เจ้านายสตรีผู้ทรงรับไม่ได้ เมื่อ “ยาขอบ” เชิดชู “หญิงมีมลทิน” เทียบเท่า” สาวบริสุทธิ์”

ภาพถ่าย พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม ฉากหลังเป็นภาพหนังสือ ใช้ประกอบเพื่อตกแต่งภาพเท่านั้น

นวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ประพันธ์โดย “ยาขอบ” เป็นนวนิยายที่ถูกเผยแพร่เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ นับเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านอย่างกว้างขวาง และหนึ่งในแฟนประจำของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ “พระองค์เจ้าเฉิดโฉม” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2558 เผยแพร่บทความเรื่อง “พระองค์เจ้าเฉิดโฉม เจ้านายสตรีล้ำสมัยกับอิสระชั่วคราว” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย คอลัมนิสต์ผู้เขียนบทความชี้ว่า พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงโปรดทั้งวรรณคดีโบราณและนวนิยายสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานและเข้าถึงพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครในเรื่อง

ครั้นเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตอนที่ จะเด็ดซึ่งมีสตรีที่ตนรักอยู่แล้วคือตะละแม่จันทราพระพี่นางของพระเจ้ามังตราแห่งเมืองตองอู ได้ไปพบรักกับตะละแม่กุสุมา พระราชธิดาแห่งเมืองแปรอีก จึงวางแผนจะให้สตรีทั้งสองเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับตนพร้อมกัน โดยอุปมาความรักที่ตนมีแก่สตรีทั้งสองว่า “รักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดิ์ รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง” ยาขอบได้แต่งเรื่องให้จะเด็ดใช้คารมเกลี่ยกล่อมจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายรวมถึงตะละแม่จันทราโอนอ่อนเห็นดีด้วยแล้ว แต่แผนของจะเด็ดก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผล เนื่องจากพระองค์เจ้าเฉิดโฉมไม่เห็นด้วย

เหตุที่พระองค์เจ้าเฉิดโฉมไม่เห็นด้วยกับแผนการของจะเด็ดนั้น ศันสนีย์ กล่าวว่า เป็นเพราะพระองค์ “ทนไม่ไหวที่จะเด็ดจะให้สตรีที่ถูกฉุดคร่าจนเสียความบริสุทธิ์แล้ว มาเข้าสู่พิธีอภิเษกเชิดหน้าชูตาคู่กับตะละแม่จันทราซึ่งเป็นหญิงพรหมจารีและดีพร้อม” ทั้งนี้เนื่องจากตะละแม่กุสุมานั้นเคยถูกสอพินยาพระญาติของพระนางหลอกลวงและใช้กำลังฉุดคร่าปลุกปล้ำจนมี “ราคี” มาก่อน

ในบทความของ ศันสนีย์ กล่าวว่า ยาขอบได้เล่าถึงสุภาพสตรีที่เดินทางมาหาตนถึงสำนักพิมพ์เพื่อห้ามมิให้เรื่องดำเนินไปตามแนวทางที่ยาขอบได้วางเอาไว้ว่า

“—เป็นหญิงร่างใหญ่ ท่วงทีสง่า ผมดัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิ สวมเสื้อขาวเกลี้ยงๆ แบบผู้ใหญ่ นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเทาดังที่เรียกกันว่าสีนกพิราบ สวมรองเท้าคัดชูส์–มือขวาถือพัดด้ามจิ้ว และเมื่อเดินมาหาข้าพเจ้าก็ควงพัดด้ามจิ้วในมือเล่นคล้ายควงกระบอง ทำให้ดูไหล่ผาย หลังตรงผ่าเผยผิดคนในปูนนั้น—” และสิ่งบ่งบอกว่าสุภาพสตรีท่านนี้เป็นหญิงสกุลสูงก็คือ “—ที่คอเสื้อมีเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอนๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว พระปิ่นเกล้า—”

สุภาพสตรีท่านนี้ได้ขอกับยาขอบไม่ให้นำตะละแม่กุสุมาสตรีไม่บริสุทธิ์มาเข้าพิธีอภิเษกพร้อมกับตะละแม่จันทราด้วยคำพูดว่า “—ไม่มีใครเขาจะพิเรนหรอกพ่อเอ๋ย—” แต่ยาขอบยังคงยืนยันว่า ตนได้วางแนวทางเรื่องให้ดำเนินไปเช่นนั้นแล้ว

พระองค์เจ้าเฉิดโฉมจึงทรงกล่าวอ้อนวอนว่า “—พ่อยาขอบช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่าให้ตายด้วยมีความสุขว่าลูกหลานไม่ได้ทำผิด หรือพอจะทำผิด ฉันเตือน เขาก็ยกให้ไม่ทำ เอ้าใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม—”

เมื่อได้ยินดังนั้น ยาขอบก็ยอมเปลี่ยนใจทำตามพระประสงค์ หาเหตุให้ตะละแม่กุสุมาไม่ได้เข้าพิธีอภิเษกคู่กับตะละแม่จันทราในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ

ศันสนีย์กล่าวว่า “จากพระบุคลิกและพระอุปนิสัยจึงพอที่จะคาดเดาได้ว่าทรงเป็นเจ้านายที่มีความคิดอ่านทันสมัย กล้าที่จะแสดงออกถึงความคิดนั้นอย่างกล้าหาญและอิสระเสรี “ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ก็ทำให้สตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน รวมทั้งพระองค์เจ้าเฉิดโฉมมีโอกาสได้สัมผัสกับ “อิสระเสรี” ที่หลายพระองค์ทรงเฝ้าถวิลหา

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้พระองค์มีโอกาสได้เสด็จออกไปประทับอยู่นอกวังได้ แต่ความไม่มั่นคงทางการเมืองเนื่องจากรัฐบาลสามัญชนเกรงว่าจะเกิดการช่วงชิงอำนาจให้กับกลุ่มอำนาจเก่า จึงสั่งให้ข้าราชสำนักฝ่ายในซึ่งเพิ่งจะได้มีโอกาสเสด็จออกมาประทับนอกวังได้ไม่นาน ให้เสด็จกลับเข้าไปประทับในวังตามเดิม

ศันสนีย์กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้รักอิสระเสรีดังเช่นพระองค์เจ้าเฉิดโฉมถึงกับทรงหลั่งน้ำพระเนตรเมื่อตรัสว่า “—ถูกขังมาแต่อ้อนแต่ออก พอแก่เฒ่าได้ออกมาเปิดหูเปิดตา เห็นนอกวังได้หน่อย ก็จะกลับเข้ากรงอีก—”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ศรีบูรพา” วางแผนให้ “ยาขอบ” ปลอมพงศาวดารเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”