การก่อสร้างทางรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 7 แม้มีอุปสรรคแต่ได้ระยะทางรวมกว่า 3 พันกม.

การคมนาคมในสยามยุคก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากอยู่พอสมควร ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการเดินทางจึงมีความสำคัญไม่น้อย เมื่ออิทธิพลของตะวันตกแผ่ขยายมายังดินแดนในแถบเอเชียตะออกเฉียงใต้ สังคมสยามก็ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เทคโนโลยี ความรู้ความคิดของผู้คนเปลี่ยนไปก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ทำให้สังคมสยามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และ รถไฟ ก็เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยในสมัยนั้นและได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของการเดินทางแบบใหม่

คนไทยเห็นรถไฟครั้งแรกมาจากอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2389 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่เป็นเพียงรถไฟ “ของเล่น” เท่านั้น ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษได้ทรงจัดส่งรถไฟจำลองเข้ามาถวาย

รถไฟเป็นรูปธรรมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องของระยะเวลาในการสร้าง เนื่องจากในช่วงนั้นเทคโนโลยียังมีอยู่อย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้เองการก่อสร้างจึงเกิดความล่าช้า การเปิดกิจการก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า การก่อสร้างทางรถไฟในสมัยก่อนถือว่ามีความยุ่งยากไม่น้อยเช่นกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปิดตอนเดินรถ เฉลี่ยทุก 1 ปีครึ่ง เริ่มเดินรถครั้งแรก ปี พ.ศ. 2439 และมีการขยายเส้นทางการเดินรถไปตลอดจนสิ้นรัชกาลมีทางรถไฟที่เปิดใช้แล้วทั้งสิ้น 932 กิโลเมตรและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกกว่า 690 กิโลเมตร

รถไฟสยาม ภาพไปรษณียบัตรเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถเปิดตอนเดินรถ ในทุก 6 เดือน ในสมัยนี้มีการรวมกิจการกรมรถไฟสายเหนือ และกรมรถไฟสายใต้ เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นพระองค์แรก เมื่อสิ้นรัชกาลทางรถไฟสมัยนั้นมีระยะทางรวมกัน 2,581 กิโลเมตร และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 418 กิโลเมตร

ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการเปิดตอนเดินรถ ในทุก 1 ปี ในพ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ปฏิวัติการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปกครองเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศด้วยทางรถไฟที่ยาวถึง 3,077 กิโลเมตร จนเป็นที่แล้วเสร็จ

จากข้อมูลในเบื้องต้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 7 แม้จะต้องอาศัยการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศเป็นหลัก แม้ว่าอุปสรรคในการขนส่งอุปกรณ์ที่ทำให้ระยะเวลาในการก่อสร้างยืดเยื้อออกไป แต่การดำเนินการก่อสร้างก็ค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นในปัจจุบัน

(ภาพจากหนังสือ “กรุงเทพในอดีต” โดย เทพชู ทับทอง )

หากจะมองย้อนกลับไปที่กล่าวว่า การเดินทางด้วยรถไฟช่วยย่นเวลาจริงหรือ? การเดินทางด้วยรถไฟทำความเร็วสูงกว่าความเร็วธรรมชาติเฉลี่ยเกือบ 15 เท่า ซึ่ง แน่นอนอยู่แล้วว่าการก่อสร้างทางรถไฟก็เพื่อหวังการใช้งานเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะทางขนส่งคมนาคมการเดินทางหรือด้านอื่นๆ จะว่าไปการพัฒนาในแต่ละยุคสมัยก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และการพัฒนาแน่นอนว่าปัจจุบันการคมนาคมขนส่งย่อมรวดเร็วกว่าสมัยก่อนเป็นแน่!

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ขอเชิญร่วมฟังเสวนา “หัวลำโพง” สเตชั่น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-สถาปัตยกรรม ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร นอกจากรับฟังเสวนาแล้ว ผู้เข้าร่วมสามารถชมนิทรรศการภาพถ่ายจากอดีต และภาพปัจจุบันโดย พิชัย แก้ววิชิต งานเสวนาจัดในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี เวลา 13.30-16.30 น. แจ้งลงทะเบียนที่ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม บริการตรวจ ATK หน้างานสำหรับผู้เข้าร่วม หรือชมถ่ายทอดสดตลอดการเสวนาผ่าน Facebook มติชนออนไลน์ และเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

 


อ้างอิง

บทความ “ขุนนางยุคก่อนปฏิวัติ คุย “รถไฟสยาม” เจ๋งกว่า “รถไฟอังกฤษ” ในดินแดนอาณานิคม”

บทความ “รัฐกับความเร็ว : การคมนาคม ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม”. โดยวิภัส เลิศรัตนรังษี. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม ๒๕๕๙


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561