ครูผี และครูมนุษย์ ในพิธีกรรมไหว้ครูช่าง

"พ่อแก่" และตะโพน สัญลักษณ์ "ครูเทวดา" ของร้องรำทำเพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ (ภาพจากสูจิบัตรไหว้ครู-ครอบครู ดนตรี และนาฏสิลป์)

“ศิษย์มีครู” คำนี้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวัฒนธรรมไทยมายาวนาน คนไทยให้ความเคารพครูในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในแขนงต่างๆให้แก่ลูกศิษย์ จึงเกิดเป็นพิธีกรรมที่เรียกกันว่า “ไหว้ครู” ขึ้น เพื่อที่จะสรรเสริญและระลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์เหล่านั้น โดยเฉพาะแขนงวิชาที่เรียกกันว่างาน “ช่าง”(ปัจจุบันเรียกงาน “ศิลปะ”) มีแขนงย่อยต่างๆมากมายเช่น ช่างสิบป์หมู่ เป็นต้น

สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้คำอธิบายคำว่า “ไหว้ครู” ไว้หมายถึง พิธีกรรมที่บรรดาครูปัจจุบัน หรือ “ครูมนุษย์” กับเหล่าลูกศิษย์ร่วมกันแสดงคารวะครูในอดีตที่ตายไปแล้วหรือหลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่งเรียก “ครูผี”, “เจ้า”, “เทพ”, “เทวดา” (เช่น พระอีศวร) โดยยกย่องครูอาวุโสคนหนึ่งทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารด้วย “ภาษาร่าย” คือ คำคล้องจอง (ซึ่งเป็นภาษาพิเศษ) ระหว่าง “ครูผี” ฯลฯ กับผู้มาร่วมพิธี

ครูผี หมายถึงครูที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเทพเจ้า หรือเทวดา หรือบางทีอาจเป็นครูซึ่งเสียชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว ถูกเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละแขนงวิชา บ้างเรียกว่า ครูช่าง ครูหมอ และครูใหญ่ ฯลฯ โดยทั้งหมดล้วนหมายถึงผู้ที่มีวิชาความรู้พิเศษ สอนวิชาชีพต่างๆที่แปลกไปจากวิถีชีวิตปกติของผู้คน(วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม)

ครูมนุษย์นั้นแตกต่างจากครูผี เพราะครูมนุษย์นั้นหมายถึง ครูที่เป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ เป็นรูปธรรมที่แตะเนื้อต้องตัวได้ไม่มีพลังพิเศษเหนือธรรมชาติอันใด หากเป็นผู้สืบทอดหรือเชี่ยวชาญในวิชาความรู้(จากครูผี) ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ตามพิธีกรรม “ครูมนุษย์” จะมีหน้าที่เป็นสื่อกลางหรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง “ครูผี” และ “ลูกศิษย์” โดยคัดเลือกครูมนุษย์ที่มีความอาวุโสและได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดให้เป็นประธานในพิธี เพื่อสื่อสารหรือบอกกล่าวให้ครูผีรับรู้ถึงการประกอบพิธี เรียกว่า “ครูอ่านองการ”

ครูอ่านองการจะทำหน้าที่ “เข้าทรง” อันเชิญพลังอันศักดิ์สิทธิ์จากครูผีมาสิงห์สู่ในตัว จากนั้นจะเชื่อมพลังศักดิ์สิทธิ์จากครูผีมา “ครอบ” ให้ลูกศิษย์ ซึ่งการครอบนี้ สุจิตต์ วง์เทศ ให้คำอธิบายว่า หมายถึงเริ่มประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้นั้นๆ เช่น ความรู้ด้านดนตรี, นาฏศิลป์, ฯลฯ

ครูทำพิธีครอบ จะยกศีรษะ “พ่อแก่”(พระอีศวร) สัญลักษณ์ของ “ครูผี” หมายถึงวิชาความรู้ (หรือ หลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่ง) ครอบลงบนศีรษะของลูกศิษย์หรือผู้เรียนวิชา แสดงว่าเริ่มต้นเรียนวิชาความรู้อย่างมั่นใจทั้งนี้ครูอ่านองการจะต้องแต่งกายด้วยโจงกระเบน นุ้งขาวหุ่มขาวเพื่อแสดงถึงความลี้ลับศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกส่งต่อมายังครูองการ และได้ถ่ายทอดมาสู่ลูกศิษย์แล้วนั้นเอง

พิธีกรรมการไหว้ครู – ครอบครูยังได้รับความนิยม และปฏิบัติสื่บต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นวัฒนธรรมที่สวยงามและควรค่าอย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์

 


อ้างอ้ง :

สุจิตต์ วงเงษ์เทศ.สูจิบัตรไหว้ครู – ครอบครู”. (2552). ปราจีนบุรี : กองทุนแบ่งปันเผยพร่ความรู้สู่สาธารณะ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2561