จริงหรือไม่? “สนามหลวง” เคยเป็น “สนามกอล์ฟ” ของฝรั่งและไฮโซไทย สมัย ร.5

สนามกอล์ฟ สนามหลวง รัชกาลที่ 5
กรีนปักธงขาวในสนามหลวง อยู่ตรงศาลสถิตยุติธรรม

ท่านอาจไม่เชื่อว่า “สนามหลวง” หรือ “ทุ่งพระสุเมรุ” ที่เรารู้จักกันดีนั้น เคยใช้เป็น “สนามกอล์ฟ” มาครั้งหนึ่งในช่วงกลางๆ รัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2438 ดำเนินการโดย สโมสรบางกอกกอล์ฟ (The Bangkok Golf Club) โดยได้รับพระราชบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นสนามกอล์ฟ

สนามหลวง สนามกอล์ฟ กรีน ปักธง ขาว
กรีนปักธงขาว อยู่ตรงศาลสถิตยุติธรรม

สนามกอล์ฟ ที่ “สนามหลวง” นี้ ยังไม่พบรายละเอียดว่าเป็นสนามขนาดเท่าใด 9 หลุมหรือ 18 หลุม รูปลักษณ์หรือเลย์เอาท์เป็นอย่างไร ใช้เป็นสนามกอล์ฟอยู่นานเท่าใดจึงย้ายไปใช้สนามอื่น รู้แต่ว่าผู้เล่นกอล์ฟที่สนามหลวงน่าจะเป็นสมาชิกสโมสรระดับเชื้อพระวงศ์ เจ้านายชั้นสูง และบรรดาฝรั่งต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอังกฤษ ที่มักเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่รัฐบาลในขณะนั้นจ้างมาพัฒนาบ้านเมือง

ส่วนอีกพวกหนึ่งน่าจะเป็นพ่อค้านักธุรกิจฝรั่ง ที่เข้ามาทำมาค้าขายในกรุงเทพฯ บางส่วนเป็นผู้ได้สัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือ กับสัมปทานการขุดแร่ในภาคใต้ ต่างเป็นคนรักกีฬาและเล่นกอล์ฟเพื่อการสังคม ความนิยมจึงค่อนข้างจำกัดสำหรับคนไทย

คาดว่า สนามกอล์ฟ ที่ “สนามหลวง” น่าจะเป็นสนามขนาด 9 หลุม เมื่อเทียบกับพื้นที่จริงของสนามหลวงในขณะนั้นที่มีเพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปัจจุบัน คือเป็นพื้นที่สำหรับทำนาคลุมพื้นที่ไปทางตะวันออกคือบริเวณศาลสถิตยุติธรรมและกรมอัยการทั้งหมด จนจรดศาลหลักเมือง และเลียบฝั่งคลองคูเมืองขึ้นไปทางเหนือถึงอนุสาวรีย์แม่พระธรณีบีบมวยผม

ภาพโดยรวมคงจะเป็นสนามกอล์ฟที่มีความงดงามพอควร แม้สนามจะขาดต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา แต่ก็น่าจะชดเชยด้วยแสงแดดเจิดจ้ากับสายลมพัดผ่านเย็นสบาย และเพียงข้ามคลองคูเมืองตามสะพานอุบลรัตน์ ก็จะถึงอาคารแบบคลาสสิก ริมถนนอัษฎางค์ ซึ่งสามารถใช้เป็นคลับเฮาส์ได้อย่างดี

อาคารคลาสสิค ริมถนนอัษฎางค์
อาคารคลาสสิค ริมถนนอัษฎางค์

ปกติแล้ว ท้องสนามหลวงใช้เป็นที่ปลูกข้าว-ทำนาในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่ออวดความอุดมสมบูรณ์ของสยามกับต่างชาติ เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงใช้ปลูกข้าวทำนาอวดความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม และทรงบัญญัติให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง” อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2398 ด้วย

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ท้องสนามหลวงถูกใช้เป็นสนามกอล์ฟ แต่เข้าใจว่าคงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะทรงใช้สนามหลวงในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พิธีพืชมงคล แรกนาขวัญ พิธีพิรุณศาสตร์ กับพิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้านายเป็นครั้งคราว ตรงนี้ท้องสนามหลวงจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งพระเมรุ” ส่วนการทำนา-ปลูกข้าว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ย้ายไปใช้ทุ่งพญาไทแทน

ขอบ สนามกอล์ฟ สนามหลวง
ขอบสนามกอล์ฟสนามหลวงเป็นที่ชุมชน ไม่เหมาะจะเล่นกอล์ฟ

อีกประการหนึ่ง ท้องสนามหลวงเป็นสนามหรือทุ่งอยู่ใจกลางเมือง อันเป็นที่ชุมนุมพบปะของผู้คนทั่วไป ไม่เหมาะจะเป็น สนามกอล์ฟ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนเหล่านั้นได้ นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่สโมสรบางกอกกอล์ฟยุติการใช้สนามหลวงเป็นสนามกอล์ฟ โดยไปเริ่มต้นหรือรวมกันที่ราชกรีฑาสโมสรก็ได้

สนามกอล์ฟราชกรีฑาสโมสร บริหารจัดการโดยฝรั่ง มีเจ้านายชั้นสูงไทยเป็นนายกสโมสรเช่นเดียวกันกับนายกสโมสรบางกอกกอล์ฟ ส่วน สโมสรกอล์ฟดุสิต เป็นสโมสรที่บริหารจัดการโดยคนไทย เป็นสโมสรแห่งแรกของคนไทย มี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นนายกสโมสร

พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์
พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายละเอียดว่า สนามกอล์ฟที่สนามหลวงเลิกไปเมื่อใด มีแต่เพียงรายละเอียดว่า เริ่มต้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2438 เท่านั้น ดังปรากฏในรายงานการประชุมครั้งแรกของสโมสรบางกอกกอล์ฟ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) เพื่อเลือกนายกสโมสรและเตรียมจัดการแข่งขัน ในอีก 5 วันต่อมาก็เรียกว่า ทุ่งพระเมรุ หรือ Pramane Ground ด้วย โดย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (Prince Devawongse) ทรงได้รับเลือกเป็นนายกสโมสร

เหตุนี้จึงน่าจะถือได้ว่า สนามกอล์ฟสนามหลวง เป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของประเทศไทย และให้หลังอีก 2-3 ปี ก็มีสนามกอล์ฟฝรั่งเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ สนามยิมคานา เชียงใหม่ เป็นสนามกอล์ฟขนาด 9 หลุม เหมือนกัน และยังคงให้บริการสมาชิกสโมสรอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2561