“พระเมรุมาศ” ตามฐานานุศักดิ์

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ภาพจากFB: Pirasri Povatong)

ความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่งผลถึงการเรียกสถานที่ตั้งพระบรมศพหรือพระศพเพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงว่า เมรุ พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ เพื่อเป็นการส่งพระศพและดวงพระวิญญาณ เสด็จกลับยังเขาพระสุเมรุ ที่สถิตของเหล่าเทพตามคติทางศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งรูปลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับความเชื่อมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามลักษณะการก่อสร้างและการใช้งาน ดังนี้

พระเมรุมาศ คือ พระเมรุขนาดสูงใหญ่ ลักษณะเป็น กุฎาคาร คือ เรือนยอด หมายถึงเรือนซึ่งทำหลังคาต่อกันเป็นยอดแหลม พระเมรุมาศสมัยโบราณนิยมสร้างเป็นยอดปรางค์ มีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้ เหตุที่เรียกว่า เมรุมาศ นั้นเนื่องจากใช้สีทองประดับพระเมรุ สมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างพระเมรุมาศขนาดสูงใหญ่หลายครั้ง เช่น พระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรสูงประมาณ ๗๔ เมตร ส่วนพระเมรุมาศงานพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์สูงถึง ๑๐๒ เมตร

พระเมรุมาศเสมือนโรงพระราชพิธีพระบรมศพทั้งมวล คือ เป็นที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม สดับปกรณ์ เลี้ยงพระ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ข้าราชบริพารที่มาในงานพระบรมศพ

พระเมรุทอง คือ เมรุทำด้วยกระดาษปิดทองหรือกระดาษทอง หรือทองน้ำตะโก อยู่ภายในพระเมรุมาศ ดังที่โคลงเฉลิมพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในรัชกาลที่ ๑ พระนิพนธ์ของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ความว่า

        จุลเมรุเหมมาศไว้            ภายใน
ทรงทรวดสุนทรประไพ             เลิศล้ำ
เหมือนเมรุสหัสไนย                 นฤมิตร
มาช่วยทรนุกค้ำ                     เชิดช้อนบารมี

โดยทั่วไปนิยมสร้างพระเมรุทองเป็นทรงกุฎาคารหรือเรือนยอด ทรงบุษบกหรือทรงมณฑป สูงประมาณ ๒๐ เมตร เป็นที่ตั้งพระเบญจาทองคำรองรับพระบรมโกศภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า

“พระเมรุที่ปลูกเป็นรูปบุษบกสวมพระเบญจา เรียกว่าพระเมรุทอง ทำด้วยดีบุกก็ดีทำด้วยทองอังกฤษก็ดี ทำด้วยทองน้ำตะโกก็ดี หรือจะลงรักปิดทองคำเปลวก็ดี หรือจะหุ้มทองคำจริงก็ดี ก็คงเรียกชื่อว่าพระเมรุทองทุกครั้งทุกคราว”

สำหรับพระราชวงศ์ที่ฐานานุศักดิ์ลดลง จำนวนชั้นของเศวตฉัตรก็ลดลงเป็น ๗-๕ ชั้น พระเบญจาอาจจะไม่ตั้งหรือชั้นพระเบญจาลดเล็กลง พระเมรุทองถูกสร้างครั้งสุดท้ายในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเมรุ ลักษณะทั่วไปเช่นพระเมรุมาศ แต่ขนาดเล็กลง ใช้สำหรับพระราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ ในพระเมรุไม่มีพระเมรุทอง

พระเมรุพิมาน เป็นสมมตินาม คือ อาคารถาวรที่ใดที่หนึ่งซึ่งตั้งพระบรมศพหรือพระศพ ครั้นเวลาถวายพระเพลิง อัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพจากพระเมรุพิมานไปถวายพระเพลิงที่พระเมรุ (ขนาดน้อย) อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลกันมากนัก ไม่เพียงเท่านั้นมีบันทึกของเจ้านายบางพระองค์เรียกทั้งอาคารที่ใช้ตั้งพระบรมศพหรือพระศพ และพระเมรุที่ใช้ถวายพระเพลิงในปริมณฑลนั้นรวมกันว่า พระเมรุพิมาน อีกด้วย

พระเมรุชนิดนี้แรกมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ร.ศ. ๑๑๙) ใช้ในการพระบรมศพและพระศพเจ้านายที่เสด็จสู่สวรรคาลัยเวลาใกล้เคียงกันถึง ๖ พระองค์ รวมทั้งสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทยคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

พระเมรุบรรพตสมเด็จ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล

พระเมรุบรรพต เป็นพระเมรุซึ่งสร้างบนภูเขาสมมติ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเพียง ๓ ครั้ง คือ

ครั้งแรกสมโภชพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ครั้งต่อมาทำในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พ.ศ. ๒๔๐๕ สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ยกพื้นสูง ทำเป็นภูเขาประกอบเชิงเมรุรอบ อนุโลมเป็นพระเมรุบรรพต เมื่อเสร็จแล้ว สมโภชพระศพสมเด็จ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล แต่พระราชทานเพลิงพระเมรุน้อยเชิงภูเขา ครั้งหลังสุดมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ งานพระศพพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาสที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พ.ศ. ๒๔๒๙


คัดข้อความจาก : หนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”. นนทพร อยู่มั่งมี. มติชน. ๒๕๕๙