พระเมรุมาศ พระเมรุ ในความเชื่อสังคมไทย

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นนามของสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวเนื่องในการพิธีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ถือเป็นสิ่งแสดงพระเกียรติยศในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ โดยใช้ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพหรือพระศพเพื่อรอการถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงเรียกต่างกันตามแต่พระอิสริยยศ สะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

การสร้างพระเมรุเกี่ยวพันถึงคติความเชื่อในสังคมไทยที่รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาและพราหมณ์ ในทางพุทธศาสนายึดถือคติไตรภูมิกล่าวถึงเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม แวดล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา เช่น วิมานท้าวจตุโลกบาลรักษาเหลี่ยมเขาพระสุเมรุทั้ง ๔ ทิศ และเขาสัตบริภัณฑ์ ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์ ต่างนับถือเทพเจ้าเป็นหลัก ได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ และเชื่อว่าพระมหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า ซึ่งบรรดาเทพเจ้าต่างๆ สถิต ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นพญาเขาใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล มีเขาบริวารเรียกว่า สัตบริภัณฑ์ทั้ง ๗ ทิวสลับด้วยแผ่นดินกับแผ่นน้ำสีทันดรล้อมไว้ประดุจกำแพงแก้ว

ในเขตเขาพระสุเมรุจะมี ป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ ล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์คือ ยุคันธร หรือ ยุคุนธร เป็นคันขอบของเขาพระสุเมรุ เป็นที่ทรงไว้ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ อิสินธร เป็นทิพยวิมานของมหิสสรเทวบุตร กรวิก เป็นที่อาศัยของนกกรวิกสุทัสนะ เป็นที่เกิดของทิพยโอสถว่านยาวิเศษ เนมินธร เป็นที่เกิดของปทุมชาติที่มีขนาดใหญ่เท่ากงรถและกงเกวียน วินันตกะ เป็นที่อยู่ของมารดาพญาครุฑ และ อัสสกัณณะ เป็นที่เกิดของไม้กำยาน

เมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ดำรงพระชนมชีพจะประทับในสถานที่ประดุจดั่งทิพยวิมานของเทพเจ้าคือ พระบรมมหาราชวัง และแวดล้อมด้วยสิ่งแสดงพระเกียรติยศนานาประการ หากในยามเสด็จล่วงลับแล้วก็จะกลับไปสถิตยังสรวงสวรรค์ เรียกว่า สวรรคต ถ้าเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ลำดับลดหลั่นกันมาจะเรียกตามพระอิสริยยศหรือพระยศขณะนั้น ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงคติทางศาสนาพราหมณ์กับสถานะของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ว่า

“ด้วยคติของพวกพราหมณ์ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินเปนพระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาบำรุงโลก เจ้านายซึ่งเปนพระราชบุตรแลพระราชธิดาก็เปนเทพบุตรแลเทพธิดา เมื่อสิ้นชาติในโลกนี้แล้ว ย่อมกลับคืนไปสู่สวรรคเทวโลกตามเดิม เพราะเหตุนี้ ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายกลับเปนเทวดาตั้งแต่เวลาสิ้นพระชนมชีพ จึงแต่งพระศพเปนเทวดา ประเพณีที่ใส่โกษฐตั้งบนฐานแว่นฟ้า แลเรียกที่ถวายเพลิงพระศพว่า ‘เมรุ’ ก็น่าจะเนื่องมาแต่คติที่ถือว่าเปนเทวดานั้นเอง”


คัดข้อความจาก : หนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”. นนทพร อยู่มั่งมี. มติชน. ๒๕๕๙