ชาวบ้าน “เผาผี” กันอย่างไร? ทำไมพก “มีดปาดหมาก” ไม่มี “ดอกไม้จันทน์”

ชูชก เผาศพ เผาผี
การเตรียมเผาศพชูชก จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรเขียนด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

เก็บเอาเรื่อง “เผาผี” อย่างที่เคยเห็นมาเมื่อตอนเด็กมาเล่าไว้ เพราะนับแต่ผู้เขียนคล้อยหลังจากบ้านเกิดมาเพียง 20 ปี การเผาผีอย่างที่เคยรู้มาก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว มีบางเรื่องน่าฉงนและน่าหาคำตอบอยู่ไม่น้อย

กองไม้ใช้เผาคนตายนี้เรียกว่ากองฟอน และเรียกดุ้นไม้เพื่อการนี้ว่าฟอน ไม่เรียกว่าฟืน

สังเกตเวลาที่ผู้ใหญ่ดุด่าเด็ก เช่น “มันหาเลื่องซินอนกองฟอนซะแหล้ว บักอันนี้” (มันหาเรื่องจะนอนกองฟอนเสียแล้ว ไอ้หมอนี่) ความหมายก็คือ คนที่นอนบนกองฟอน ก็คือคนตาย การที่เด็กหรือคนหนุ่มทำเรื่องอันน่าหวาดเสียวเสี่ยงตาย หรือกวนโมโห ชวนให้ “น่าฆ่าทิ้ง” เสียยิ่งนัก เมื่อฆ่าแล้วก็ต้องนำไปเผา โดยนำไปนอนบนกองฟอนนั่นเอง

สำนวนดังกล่าว เป็นคำสบถ หรือดุด่าเพื่อกำราบ หรือเพื่อห้ามปรามมิให้ทำสิ่งใดสิ่งนั้นอีกต่อไป หรือคนพูดแสดงอาการโมโหเท่านั้น มิได้จงใจเพื่อจะฆ่าให้ตายแต่อย่างใด

การเรียงท่อนไม้เพื่อเป็นเชื้อไฟเผาผีนี้ ผู้เขียนเคยไปยืนดูอยู่ห่าง ๆ เนื่องจากกลัวผีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้ามีคนจำนวนมากที่มุงดูและที่ช่วยกันเรียงไม้ ก็ช่วยลดความกลัวไปได้มาก เห็นชาวบ้านช่วยกันนำไม้ท่อนเท่าลำขา ยาวประมาณวาเศษ ๆ มาเรียงเป็นชั้น ๆ กองสูงระดับอกผู้ใหญ่

การเรียงไม้นี้ เห็นเขาเรียงให้มีความโปร่ง ด้วยการใช้ไม้ขนาดลำแขนหนุนขวาง ก่อนที่จะวางชั้นต่อ ๆ ไป มาคิดพิเคราะห์เอาตอนที่โตแล้วนี้ เข้าใจว่า เป็นการวางไม้เพื่อให้อากาศถ่ายเท ท่อนไม้ไม่เบียดอัดแน่น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะมีผลทำให้ไฟดับ

ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นมา มักเผาผีประมาณ 4 โมงเย็น เคยเห็นแม่ไปร่วมงานเผาผี โดยแม่จะเลือกสวมเสื้อขาวหรือดำ หรือลายค่อนไปทางขาวหรือดำ แล้วใช้ผ้าเบี่ยง (สไบเฉียง) ซึ่งเป็นผ้ายาวประมาณ 1 วา สีขาว พาดเฉวียงไหล่ และทุกครั้งที่เห็นแม่ไปร่วมงานเผาผีใครก็ตาม แม่จะถือมีดปาดหมากไปด้วย เมื่อออกเดินทางจากบ้านพร้อมกับคนอื่น ๆ ในละแวกคุ้มเดียวกัน ต่างคนก็จะฉวยเอากิ่งไม้แห้งข้างทาง ขนาดนิ้วมือบ้าง ขนาดท่อนแขนบ้าง ติดมือไปด้วย

ความจริง มีดปาดหมากนั้นคือมีดขนาดเล็กอย่างที่แม่ครัวใช้ปอกหอมปอกกระเทียม จึงถามแม่ว่าถือมีดไปด้วยทำไม แม่ว่า “เอาไปตัดไม้ฟอนเผาผีซิลูก” (หรือตัดไม้เพื่อร่วมเผาศพนั่นเอง)

ทั้ง ๆ ที่ก่อนเผาศพหรือเผาผี มีการก่อกองฟอนไว้ที่ป่าช้าแล้ว แต่แม่และผู้เฒ่าในหมู่บ้านทำเหมือนกันหมด เสียดายนักว่า ตอนนี้ไม่มีแม่ให้ซักเอาความรู้อีกแล้ว จึงตีความเอาเอง (ซึ่งอาจผิดก็ได้) ว่า เหตุที่ผู้เฒ่าผู้แก่พากันถือมีด และไม่จำเพาะมีดปาดหมากเท่านั้น เพราะเห็นผู้เฒ่าชายบางคนก็ถืออีโต้ ถือขวานติดมือไปด้วย คงเป็นการทำตามรูปรอยของโบราณ คือ เมื่อมีคนตายก็ต้องเผา

การเผาก็ต้องช่วยกันหาวัสดุ ประเภทท่อนไม้หรือกิ่งไม้ไปร่วมเผา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการเผาผี เป็นทำนองว่า ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่สวรรค์

ข้อน่าสังเกตคือ ตอนที่ผู้เขียนยังเด็กนั้น ไม่พบเห็นการแจกดอกไม้จันทน์ในงานเผาผีเลย เพิ่งพบเห็นในช่วงหลัง ๆ นี้ เรื่องนี้ได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด ต่างก็บอกตรงกันว่า สมัยท่านเด็ก ๆ ก็ไม่มีดอกไม้จันทน์ในงานเผาศพ

การใช้ดอกไม้จันทน์ร่วมเผาในงานศพ จึงไม่ใช่ของพื้นบ้านพื้นเมือง แต่เป็นของที่ทำเลียนพระราชนิยมจากในวัง กล่าวคือ ไม้จันทน์ หรือไม้จันทนา เป็นไม้เนื้อหอม นับถือกันว่าเป็นของควรคู่กับเจ้าชีวิตหรือพระญาติพระวงศ์ในพระเจ้าอยู่หัว ส่วนตามต่างจังหวัด เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่มรณภาพ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับจังหวัดอสัญกรรม การฌาปนกิจศพจึงจะมีดอกไม้จันทน์

ส่วนชาวบ้านร้านตลาดที่สำนึกว่าตัวเป็นข้าแผ่นดิน เห็นว่าดอกไม้จันทน์เป็นของสูง ไม่ควรจัดหาให้เทียมเจ้าเทียมนาย การเผาศพชาวบ้านในสมัยที่ผู้เขียนยังเด็ก จึงไม่เห็นว่ามีการนำดอกไม้จันทน์มาใช้ในงาน คะเนว่า คงจะเป็นในระยะ 40 กว่าปีนี่เอง คนเริ่มคิดในมุมกลับว่า ดอกไม้จันทน์เป็นของเสริมเกียรติให้กับผู้ตาย ครั้นเวลาเผาศพ ญาติ ๆ จึงมักจัดหาดอกไม้จันทน์ให้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีเผาศพด้วย จนทุกวันนี้ หากงานศพใดไม่มีดอกไม้จันทน์ จะกลายเป็นเรื่องแปลก

เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ คือ นำเอาของกินได้ จำพวกปลาแดก (ปลาร้า) พริก เกลือ ข้าวสาร มะพร้าว ฟัก แฟง ฯลฯ มาช่วยเจ้าภาพ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ชาวบ้านมักหยุดงานที่เป็นงานอาชีพ เช่น ทอผ้า หรืองานที่จัดทำจัดหาสิ่งของไปขาย ผู้เขียนเห็นอยู่บ่อยครั้งว่า แม่มักจะ “กู้หูก” หรือไม่ยอม “ต่ำหูก” (ทอผ้า) ในช่วงที่มีศพอยู่ในหมู่บ้าน หากหูกที่กางไว้กับกี่ (กี่ คือ โครงไม้ในกระบวนการทอผ้าแบบพื้นบ้าน) แม่ก็จะต้องเก็บกู้ม้วนและห่อผ้าไว้อย่างเรียบร้อย

การ เผาผี แบบตั้งโลงไว้บนกองฟอนนี้ ชาวบ้านจะเตรียมไม้สดท่อนขนาดลำขาน่อง ยาวประมาณ 3 วาเศษ จำนวน 4 ท่อน ไม้นี้เรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า “ไม้เต็งผี” (เต็ง แปลว่า กด หรือ ทับ หรือ ข่ม) เพราะเมื่อเวลาจุดไฟเผาที่กองฟอนแล้ว ไฟจะลุกโชนลามไปไหม้กระดาษหุ้มโลง และกระดานฝาโลงอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้นี่เอง ที่ศพเมื่อถูกความร้อนอาจงอตัว โงหัวยกขาขึ้น แม้มัดตราสังไว้ถึง 3 เปลาะ แต่ก็เอาไม่อยู่ เพราะวัสดุที่มัดนั้นเป็นด้าย พอถูกไฟไหม้ก็วอดไปทันใด ทำให้ศพที่งอตัวกลิ้งตกลงมาจากกองฟอน เป็นที่น่าอุจาด และไม่มีใครใคร่จะไปจับโยนขึ้นกองฟอนอีก ด้วยเหตุนี้ แต่โบราณมาท่านสอนให้เตรียมไม้เต็งผีไว้สำหรับวางกดทับคอและขาทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เพื่อมิให้ศพกลิ้งหล่นลงพื้น

จำได้ว่า เคยมีชาวบ้านมาปรึกษากับพ่อผู้เขียนว่า อยากจะทำเมรุ (ชาวบ้านออกเสียงว่า เมม) เผาศพแบบก่อเป็นปูนซีเมนต์ เป็นแท่นสูงขึ้นมา มีผนังปูนสองข้าง ตรงกลางสามารถก่อกองฟอน แล้วนำโลงศพไปตั้งไว้ได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าศพจะหล่นลงพื้น และสามารถลดความ “น่าขี้เดียด” (ความน่ารังเกียจ ความอุจาด) ลงได้ พ่อก็เห็นว่าดี แต่ไม่รับเป็นหัวหน้าผู้คิดทำ มาทราบภายหลังว่า พ่อเชื่อเรื่อง “สลองเมมใหม่”

มีเรื่องเล่ากันปากต่อปากว่า บ้านโน้นบ้านนี้ (ไม่ระบุแหล่งแน่ชัด ซึ่งเป็นลักษณะข่าวลือ) คนที่เป็นหัวหน้าคิดทำเมรุสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ก็มักตายเมื่อทำเมรุเสร็จใหม่ ๆ จึงเป็นที่มาของเรื่องเล่าฉลองเมรุใหม่ แต่ทั้งนี้คงเป็นแต่ความเชื่อและคำลือเท่านั้น ไม่มีการทดสอบหรือทำสถิติว่าเป็นจริงหรือไม่ [1]

การเผาผี หรือการจัดงานเกี่ยวกับศพนี้ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่สังคมแต่ละแห่งมีความเชื่อถือทั้งที่คล้ายและแตกต่างกัน

นอกจากนี้ “เวลา” ก็ยังผลให้ความคิดความเชื่อ ตลอดจนประเพณีปฏิบัติผิดแผกไปจากเดิมด้วย ดังเช่น เมื่อก่อนนี้ ผู้เขียนเคยเห็นแต่มีการจุดพลุจุดตะไล กล่าวคือ เมื่อเจ้าอาวาสลงมือจุดไฟที่กองฟอนนั้น คนที่มีหน้าที่จุดพลุเมื่อเห็นเปลวไฟจากกองฟอนก็จุดพลุเสียงดัง “บึ้ม” แล้วก็ตามด้วยเสียงตะไล “แซ็ดๆๆๆๆๆ” ตะไลที่มีรูปทรงเหมือนขอบเข่งปลาทู ตรงกลางเป็นกระบอกไม้ไผ่ลำเท่าด้ามมีด ก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในเวลาไล่เลี่ยกัน

ผู้เฒ่าบางคนพอได้ยินเสียงพลุ ก็ยกมือท่วมหัวแล้วกล่าวว่า “ซ้าธุ เกิดซาดหน้าขอให้ดังคือพุ” (สาธุ เกิดชาติหน้าขอให้ตนมีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกับพลุ) 

ขอเก็บขี้ปากผู้เฒ่ามาเล่าสืบความต่อว่า การจุดพลุก็เพื่อเบิกทาง ส่วนจุดตะไลนั้นก็เพื่อส่งดวงวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ แต่ครั้งหล้าสุดที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปงานศพที่วัดสว่างอารมณ์ บ้านโนนสาทร อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยภูมิ (วัดและชุมชนอันเป็นที่มาของเรื่องเล่านี้) ไม่ได้เห็นกองฟอนอย่างที่อยู่ในความทรงจำแล้ว แต่มีเมรุเผาศพอย่างเป็นทางการ มีการจุดประทัดแทนการจุดพลุจุดตะไล ไม่มีผู้เฒ่าถือมีดปาดหมากมางานเผาผีเหมือนดังแต่ก่อนเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พ.ศ. 2558 ผู้เขียนไปทำวิจัยที่ชุมชนตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ฟังเรื่องเล่าว่า ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของตำบลปลาค้าว แต่ก่อนนี้ก็มีการเผาศพอย่างที่ผู้เขียนเล่ามา ต่อมาเจ้าอาวาสชื่อ พระครูบวรโพธิคุณ (พระครูห่ม) ท่านเห็นว่าบ้านเมืองมีความเจริญแล้ว การเผาศพดังกล่าวไม่งามตา และทุกวันนี้มีวิทยาการด้านการก่อสร้างที่ทันสมัย ท่านจึงสนับสนุนก่อสร้างเมรุเผาศพ ระหว่างที่ก่อสร้างอยู่นั้น ท่านมรณภาพ จึงได้เผาศพของท่านเป็นศพแรกของเมรุที่ท่านดำริให้สร้างขึ้นมา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561