โซเฟีย แบรดเลย์ ลูกสาว “หมอแบรดเลย์” กับวิถีชีวิต-ภารกิจในเชียงใหม่ที่ไม่มีใครพูดถึง

โซเฟีย แบรดเลย์ ถ่ายเมื่ออายุ 42 ปี

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2533 เผยแพร่บทความชื่อ “ครั้งแรกเก่าที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งคุณอนันต์ เลาหะพันธุ เป็นผู้เขียน

บทความนี้เป็นเรื่องราวของหมอแบรดเลย์ และหนังสือพิมพ์ฉบับแรก “บางกอกรีคอดเดอร์” ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอเอง ทำให้คิดถึงลูกสาวตนโตของหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีผู้นี้ เธอชื่อ โซเฟีย แบรดเลย์ ผู้ซึ่งมีความสามารถและมีส่วนช่วยในงานด้านศาสนาและสังคม แต่ไม่มีใครพูดถึง ที่รู้จักก็เพียง ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ผู้สามีเท่านั้น

บ้านหมอแบรดเลย์อยู่ใกล้วัดแจ้ง ท่าน้ำที่นั่นเป็นที่จอดเรือของเจ้าเชียงใหม่ เมื่อเจ้าลงมากรุงเทพฯ ทีไร ก็ให้จอดเรืออยู่ท่าน้ำวัดแจ้งทุกครั้งไป หมอแบรดเลย์จึงมีโอกาสสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าหลวงเชียงใหม่

ปราณี ศิริธร ในหนังสือชื่อ “เพ็ชรลานนา” หน้า 225 กล่าวว่า “…พ่อเจ้ากาวิโลรส และพระธิดา 2 องค์ รวมทั้งเจ้านายในราชวงศ์ เสนาข้าราชการผู้ใหญ่บางท่านได้เสด็จไปกรุงเทพฯ เพื่อทูลถวายเครื่องราชบรรณาการตามกำหนดเวลาแห่งราชประเพณี ได้ไปทำความรู้จักกับคนพวกนี้…(มิชชันนารี) เพราะบังเอิญมีที่พักใกล้ๆ กันในกรุงเทพฯ คือที่วัดอรุณราชวราราม…”

หมอแบรดเลย์เคยเชิญเจ้าไปที่บ้านไปดูโรงพิมพ์ เจ้าสนใจในการปลูกฝีป้องกันฝีดาษและการฉีดวัคซีน  นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเชียงใหม่และครอบครัวแบรดเลย์ได้เริ่มขึ้นมาก่อนที่จะมีใครในครอบครัวแบรดเลย์คิดว่าจะได้ไปอยู่เชียงใหม่ และฝากร่างไว้ที่นั่น

สามีของโซเฟีย รอย แบรดเลย์นั้นมีชื่อว่า ดาเนียล แมคกิลวารี

แมคกิลวารีสนใจงานด้านการประกาศศาสนา เมื่อครั้งเรียนศาสนศาสตร์อยู่ที่วิทยาลัยปริ๊นสตัน รัฐนิวเจอซี่ สหรัฐอเมริกา แมคากิลวารีประทับใจในคำเทศนาเร้าใจให้มีผู้ไปเป็นมิชชันารีในประเทศไทย เขาจึงตัดสินใจชวนเพื่อนคู่สามีภรรยาเดินทางมาด้วยกัน เมื่อมาถึงปากอ่าวจะเข้ากรุงเทพฯ ก็เข้าไม่ได้ ตามบันทึกของแมคกิลวารีว่าน้ำลดมากเรือติดสันดอนต้องเช่าเรือเล็กมา

โบสถ์สำเหร่

แมคกิลวารีและสหายมาขึ้นเรือที่หน้าโบสถ์สำเหร่ (เวลานี้โบสถ์ยังตั้งอยู่เดิม) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อแมคกิลวารีและเพื่อนมาขึ้นบก เป็นเวลาเช้าตรู่ คนเขาก็ยังไม่ตื่นนอนกัน

สิ่งสำคัญประการแรกสำหรับแมคกิลวารีคือล่าม เพราะตนเองและครูสอนศาสนาที่มาด้วยกันพูดไทยไม่ได้เลย คนที่มาช่วยแมคกิลวารีได้ทันท่วงทีและในเวลาอันเหมาะเจาะ คือโซเฟีย แบรดเลย์นี้เอง ทั้งคู่มาใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ที่สุดได้กลายเป็นความรัก และได้สมรสกันในเวลาต่อมา

โซเฟีย แบรดเลย์  มีส่วนสร้างความสำเร็จแก่มิชชันนารีหนุ่มผู้นี้ เพราะโซฟียพูดภาษาไทยได้ ประสบการณ์ในครอบครัวที่ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในสังคมไทย มีส่วนทำให้โซเฟียได้ประคับประคองชีวิตในครอบครัวเธอเองให้อยู่รอดปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเธอได้ติดตามสามีมาอยู่เชียงใหม่ใน ปีค.ศ. 1867 จนกระทั่งวาระสุดท้ายชองชีวิต คือในปี 1923

เมื่อโซเฟียและแมคกิลวารีแต่งงานได้ 1 วัน  ทั้งสองได้นำขนมเค้กไปให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ที่เรือ และต่อมาเจ้าหลวงก็พาครอบครัวไปเยี่ยมครอบครัวแมคกิลวารีเป็นการตอบแทน

แมคกิลวารีสนใจคนเชียงใหม่และได้สนทนากับคนเชียงใหม่ที่มาในเรือกับเจ้า จึงขออนุญาตเจ้าขึ้นมาดูเชียงใหม่ ความสนใจทวีมากขึ้น เมื่อทราบว่าคนลาวจากโคราชมาอยู่ที่เพชรบุรีด้วย

ต่อมาแมคกิลวารีและโซเฟียได้ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี และได้ลูกสาว 2 คน ความรักและความสนใจคนลาวไม่สามารถดับได้ ยิ่งได้พูดคุยกับคนลาวจากโคราชที่ถูกกวาดมาเป็นเชลยที่เพชรบุรี ก็ยิ่งอยากจะขึ้นมาทำงานกับคนลาวในภาคเหนือ

แมคกิลวารีจึงตัดสินใจมากรุงเทพฯ และได้ไปหาพ่อตา คือหมอแบรดเลย์เพื่อขอพ่อตาช่วยติดต่อและติดตามเรื่องไปอยู่เชียงใหม่ หรือภาษาศาสนาเรียกว่าไป “เปิดสถานี” …(station)

ตามบันทึกของแมคกิลวารีในหนังสือ “กึ่งศตวรรษ…” (Half Century…) ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของแมคกิลวารีเอง เล่าว่าตนเองและพ่อตาได้ไปหากงสุลอเมริกัน ชื่อ มร.ฮูด ในเวลานั้นกงสุลผู้นี้ได้เขียนจดหมายกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาไม่กี่วันก็ได้รับกระแสพระราชดำรัสว่า มร.ฮูด และคณะควรนำเรื่องปรึกษาเจ้าหลวงเชียงใหม่ซึ่งกำลังพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เวลานั้น ถ้าเจ้าหลวงไม่ขัดข้อง พระองค์เองก็มิทรงขัดข้องแต่ประการใด ดังนั้น แมคกิลวารีและหมอแบรดเลย์พ่อตา และมร.ฮูด ทั้งเพื่อนมิชชันนารี 2 คน พากันไปหาเจ้า เจ้าหลวงอนุญาตให้แมคกิลวารีไปเปิดสถานีที่เชียงใหม่ได้ เจ้าหลวงกล่าวว่า แมคกิลวารีไม่ต้องซื้อที่ดิน ที่ดินที่นั่นราคาถูก ไม้ก็มาก

ในความรู้สึกของหมอแบรดเลย์นั้นเป็นความชื่นชม เพราะอย่างน้อยนั่นคืองานพันธกิจที่สายเลือดของแบรดเลย์เอง มีส่วนในการสืบสานมรดกแห่งความเชื่อศรัทธาของตน

วันที่ 3 มิถุนายน 1867 แมคกิลวารี โซเฟีย และลูกเล็ก 2 คนลงเรือเดินทางจากรุงเทพฯ ขึ้นเชียงใหม่  เขาใช้เวลา 4 สัปดาห์ก็มาถึงเมืองแหงและเปลี่ยนเรือที่นั่น

เบื้องหลังแห่งการเคลื่อนไหวด้วยพลังแห่งความหนุ่มแน่น และไฟแห่งความเชื่อศรัทธานี้ โซเฟีย ย่อมมีส่วนอยู่ตลอดเวลา หนังสือ “ข่าวลาว” (Lao News) กล่ววว่า โซเฟียได้ไปเรียนอยู่ที่สหรัฐ เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่เธอใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย โซเฟียจึงรู้จักชีวิตชุมชนไทยดีพอควรทีเดียว

แม่น้ำปิง เส้นทางเดินเรือจากรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ของโซเฟีย และดาเนียล แมคกิลวารี ในครั้งนั้น

การเดินทางจากรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่กินเวลาประมาณ 90 วัน บันทึก “กึ่งศตวรรษ…” ของแมคกิลวารีกล่าวว่า ยามพักแรมตามหาดทรายริมแม่น้ำปิงยามค่ำคืน ได้ยินเสียงเสือร้องอยู่บ่อยๆ

เมื่อมาถึงเชียงใหม่ เจ้าหลวงมิได้อยู่ในเมือง แต่คนของเจ้าอนุญาตให้ไปพักที่ศาลาสาธารณะชื่อ “ศาลาย่าแสงคำมา”

ปราณี ศิริธร ในหนังสือ “เพ็ชรลานนา” หน้า 255 กล่าวว่า “พ่อเจ้าเสด็จไปทัพกว่าจะกลับอีกหลายอาทิตย์ มิชชันนารีพวกนี้จึงยึดเอาศาลาที่พัก (ศาลาย่าแสงคำมา) ซึ่งข้าราชการเมืองแหงสร้างไว้นอกเมืองเป็นที่พักผ่อน…อยู่ ณ บริเวณปาก ซอยข่วงเมรุด้านใต้เดี้ยวนี้ ที่นั่นเป็นที่ลุ่มไม่ใคร่มีบ้านเรือนราษฎร เพราะเป็นที่ตั้งกู่อัฐิเจ้านายราชตระกูลนครเชียงใหม่ (ย้ายไปวัดสวนดอกภายหลัง) แต่ที่นั่นเป็นทางผ่านไปมาของชาวบ้านนอกเมืองซึ่งจะไปตลาดในเมือง”

ในหนังสือ “กึ่งศตวรรษ” ของแมคกิลวารีบันทึกว่า ศาลาย่าแสงคำมาตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองด้าน ตะวันออก และอยู่ใกล้ตลาด (เข้าใจว่าเป็นตรอกเล่าโจ๊หรือตรอกข่วงเมรุปัจจุบัน) ศาลาสร้างเป็นเพิง เปิดหน้า มีฝาสามด้าน กว้างยาง 12 x 20 ฟุต

คนเหนือไม่เคยเห็นฝรั่งตาน้ำข้าวตัวสูงใหญ่ จมูกโด่งยาว จึงเรียกพวกฝรั่งว่า “กุลวาขาว” และพากัน มามุงดูครอบครัวแมคกิลวารีตลอดเวลา แมคกิลวารีบันทึกว่าเวลากินข้าวเป็นเวลาที่คนมามุงดูมากที่สุด

R.W.Wood เขียนในหนังสือชื่อ De Mortuis-The Story of the Chiang Mai Foreign century หน้า 14 ว่า “ ปี 1967 แมคกิลวารีพาลูกเมียมาเชียงใหม่พักอาศัยในกระท่อมใกล้ทาง (openway – side  rest hut)”

สำหรับคำว่า “กุลวาขาว” นั้นปราณี ศิริธร ในหนังสือ “เพ็ชรลานนา” หน้า 253 เขียนไว้ว่า “เชียงใหม่เวลานั้น มีการบูรณะบ้านเมืองนอกจากชาวล้านนาก็มีคนต่างชาติมาประกอบอาชีพต่างๆ เช่น พม่า และอินเดีย พวกอินเดียมีรูปร่างลักษณะผิดกว่าชาวเมืองมากเพราะสูงใหญ่ และมีหนวดเครารุงรังและผิวดำ ชาวเมืองเรียกกันว่า ‘กุลวาดำ’”

R.W.Wood กล่าวไว่ในหนังสือที่อ้างไปแล้วว่า “kolas” ไม่ใช่ภาษาไทยเป็นภาษาพม่าแปลตาม ตัวอักษรว่า “ว่ายน้ำมา” (come swimming) หรือคนที่ข้ามทะเลมา (one from across the sea)

หากมิใช่เพราะความสามารถในการปรับตัวทั้งการรู้จักขนบธรรมเนียมไทยอยู่บ้างเป็นพื้นฐานและ ที่สำคัญยิ่งคือ ความสามารถในการใช้ภาษาไทย ชีวิตใน “ศาลาย่าแสงคำมา” ซึ่งเป็นทั้งห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ไปพร้อมสรรพในที่เดียวกัน คงเป็นไปได้ยากยิ่งที่โซเฟีย จะจัดการให้ชีวิตในครอบครัว  และชีวิตงานอยู่รอดได้นับว่าเธอเก่ง

โซเฟีย และดาเนียล แมคกิลวารีถ่ายภาพร่วมกันในวาระฉลองครบรบอแต่งงาน 50 ปี

ยิ่งกว่านั้น โซเฟียต้องเลี้ยงลูก 2 คน ทั้งเป็นแม่บ้านเต็มอัตรา ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจาก กรุงเทพฯ ความคับแคบของที่อยู่ ความสัมพันธ์ติดต่อกับชาวเมืองที่มีวัฒนธรรมทางประเพณีแตกต่างจาก กรุงเทพฯ ถิ่นที่เธอถือกำเนิดมา เหล่านี้มิใช่ของง่ายที่จะปฏิบัติ

ในหนังสือ “ข่าวลาว”  (Lao News) ปี 1914  มีบันทึกว่า “มิสซิสแมคกิลวารีมีสุขภาพดี สนใจในงาน มิชชั่นนารีทุกอย่าง และเธอเป็นลูกสาวมิชชันนารีคนสำคัญของประเทศไทย คือหมอแบรดเลย์ ก่อนจะมาทางเหนือก็คล่องงานอยู่ภาคใต้แล้ว เธอมีความรู้เกี่ยวกับคน ภาษา และขนบประเพณีไทยถึง 3 รัชกาล ด้วยกัน โซเฟีย แบรดเลย์ มีความสามารถในการให้คำปรึกษา และคำแนะนำต่างๆ แก่คน”

มร.แฮลมิงตัน คิงส์ ทูตอเมริกัน สู่สยามพูดถึงโซเฟียว่า เธอเป็นคู่ชีวิต (Counterpart) ของดร.แมคกิล วารีทีเดียว

ดาเนียล แมคกิลวารีทำงานในประเทศไทยนานถึง 50 ปี หรือกึ่งศตวรรษ ในขณะที่มิชชันนารีผู้เป็นเพื่อนร่วมงานหลายคนถึงแก่กรรม ไม่ก็เดินทางกลับบ้านก่อนกำหนด

แมคกิลวารีเสียชีวิตก่อนโซเฟีย ภรรรยา คือเสียชีวิตในปี 1911 ส่วนโซเฟียมีอายุยืนต่อมาอีกถึง 12 ปี จึงถึงแก่กรรมในปี 1923 รวมอายุได้ 86 ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “โซเฟีย แบรดเลย์ เธอหล่นไม่ไกลต้น” เขียนโดย ประกาย นนทวสี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2534


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2560