เนินโบราณสถานวัดหญ้า(นครศรีธรรมราช) กับหลักฐานทางโบราณคดี

ที่ตั้งเนินโบราณสถานวัดหญ้า (ดัดแปลงจาก Google Map)

เมื่อประมาณวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ผู้เขียนได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ถึงเรื่องเนินโบราณสถานภายใน วัดหญ้า ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช จึงได้เดินทางเข้ามาสำรวจ ซึ่งการขุดค้นในครั้งนี้ได้เกิดการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายอย่าง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงบริเวณเนินโบราณสถานเท่านั้น (เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถระบุถึงยุคสมัยการสร้างวัดได้ชัดเจน)

บริเวณพื้นที่เนินโบราณสถาน

เนินโบราณสถานมีความกว้างประมาณ ๑๑.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ เมตร บริเวณกลางเนินโบราณสถาน (สันนิษฐานว่าคือบริเวณองค์พระประธานประจำอุโบสถ) ปรากฏหลุมลักขุด กว้างประมาณ ๓.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๗.๕๐ เมตร และลึกประมาณ ๑.๓๐ เมตร ภายหลังการตกแต่งผนังหลุมลักขุดทำให้เห็นถึงชั้นดินและชั้นหลักฐานทางโบราณคดี ดังนี้

๑) ผนังหลุมลักขุดด้านทิศเหนือ ชั้นที่ ๑ (นับจากชั้นบนสุด) เป็นชั้นผิวดิน ลักษณะดินทราย มีหญ้าปกคลุม หนาประมาณ ๕ เซนติเมตร ชั้นที่ ๒ เป็นชั้นก่ออิฐซ้อนกัน ๓ ชั้น สอด้วย ปูนซีเมนต์ หนาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร อาจเป็นส่วนหนึ่งของอุโบสถ (หลังเก่า) อายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี ชั้นที่ ๓ ชั้นดินถม เป็นดินทราย หนาประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ซึ่งในชั้นนี้นี่เองที่ได้พบเครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยจีน และก้อนอิฐ ส่วนชั้นที่ ๔ เป็นชั้นอิฐปูพื้น ก่อ ๑ ชั้น ไม่สอปูน หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตรสันนิษฐานว่าเป็นพื้น(อุโบสถ)โบราณสมัยอยุธยา

ผนังหลุมลักขุดด้านทิศเหนือ (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

๒) ผนังหลุมลักขุดด้านทิศใต้ ชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๓ มีลักษณะคล้ายกับผนังหลุมลักขุดด้านทิศเหนือ แต่สำหรับชั้นที่ ๔ ชั้นอิฐปูพื้นจะมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย คือ จะมีลักษณะเป็นชั้นอิฐซ้อนกัน ๒ ชั้น ไม่สอปูน ชั้นอิฐหนาประมาณ ๑๕ เซนติเมตร พบว่ามีการใช้เทคนิคการปูพื้นอิฐโดยใช้หน้ากว้างต่อหน้ายาววนเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบงูกินหาง ทำให้เกิดช่องว่างตรงกลางสำหรับวางอิฐอีกก้อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าเป็นพื้น(อุโบสถ)โบราณสมัยอยุธยา

ผนังหลุมลักขุดด้านทิศใต้ (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

สำหรับโบราณวัตถุที่พบภายในหลุมลักขุดทั้งสองด้านนี้ ได้แก่

๑) เศษเครื่องถ้วยสุโขทัย เนื้อแกร่ง จำนวน ๑ ชิ้น ลักษณะผิวเรียบเคลือบสีน้ำตาล จากแหล่งเตาบ้านป่ายาง เมืองศรีสัชนาลัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑

เศษเครื่องถ้วยสุโขทัย (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

๒) เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนลำตัว ลักษณะด้านนอกตกแต่งด้วยการเขียนสีแดงบนเคลือบ ด้านในปาดน้ำเคลือบสีเขียว เขียนขอบด้วยสีแดง เป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง กลุ่มเตาจิงเต๋อจิ้น ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓

เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนลำตัว (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

๓) เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนฝาโถ ลักษณะด้านนอกตกแต่งด้วยการเขียนสีแดงและสีขาวบนเคลือบขอบฝาเขียนสีน้ำตาลใต้เคลือบ เป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง กลุ่มเตาจิงเต๋อจิ้น ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓

เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนฝาโถ (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

๔) เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนปาก ลักษณะด้านนอกเรียบ เคลือบขาว ด้านในเขียนสีแดงบนเคลือบ เป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง กลุ่มเตาจิงเต๋อจิ้นราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓

เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนปาก (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

๕) เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนปาก ลักษณะด้านนอกตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายรูปตัวอักษรจีนสีน้ำเงินใต้เคลือบ เป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง กลุ่มเตาอันซี ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕

เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนปาก (ถ่ายจากเอกสารรายงานการสำรวจวัดหญ้า)

นอกจากนั้นยังมีเศษของอิฐดินเผา ซึ่งกรมศิลปากรได้เก็บตัวอย่างมา ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งมีขนาดกว้าง ๑๑.๒ เซนติเมตร ยาว (เท่าที่เหลือ) ๑๒.๘ เซนติเมตร หนา ๓.๗ เซนติเมตร ส่วนอีกก้อนกว้าง ๑๔ เซนติเมตร ยาว (เท่าที่เหลือ) ๒๘ เซนติเมตร หนา ๕.๕ เซนติเมตร และพบเศษกระเบื้องมุงหลังคา มีลักษณะเป็นกระเบื้องแผ่นแบน สันนิษฐานว่าเป็นกระเบื้องประเภทดินขอ หรือชายพับ

จากผลการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้  ได้ชี้ชัดว่าวัดหญ้าสร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาจริง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ตรงกับยุคสมัยที่ระบุไว้ในประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๓ และคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ต่างเชื่อกันว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๐! (หรือช่วงศตวรรษที่ ๑๙-๒๐)

แต่อย่างไรก็ตามวัดหญ้าแห่งนี้ก็ยังคงมีความน่าสนใจและรอให้เราค้นหาคำตอบอีกต่อไป ซึ่งการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกสำหรับการขุดค้นโดยกรมศิลปากร ผู้เขียนมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะมีการขุดค้นเพิ่มเติมโดยกรมศิลปากรในโอกาสหน้า เพื่อการค้นพบหลักฐานที่มากกว่าเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องถ้วยจีน!


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. รายงานการสำรวจวัดหญ้า หมู่ที่ ๒ บ้านห้วยน้ำเย็น ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช, ๒๕๖๐.