ปืนใหญ่พระนารายณ์ ทำไมไปไกลถึงปารีส?

ออกพระวิสูตรสุนทร โกษาปาน ราชทูตสยาม เครื่องราชบรรณาการ ปืนใหญ่พระนารายณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่งเศส
ออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) ราชทูต และคณะ นำเครื่องราชบรรณาการจากสยามออกมาวางเรียงรายต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อได้เข้าเฝ้า ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2229 ในภาพ (มุมขวาล่าง) มีปืนใหญ่พระนารายณ์ 2 กระบอกปรากฏอยู่ท่ามกลางสิ่งของที่นำมาถวายด้วย (ภาพจากหนังสือมองประวัติศาสตร์ไทยผ่านศัสตราวุธ)

รู้หรือไม่ “ปืนใหญ่พระนารายณ์” ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ถูกนำไปถวายถึงกรุงปารีส

คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะได้ยินว่าปืนใหญ่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถูกส่งเข้ามายังกรุงสยามด้วยเหตุผลทางการเมือง พร้อมกับการส่งทหารเข้ามาของ นายพล เดส์ฟาร์จ เพื่อยึดเมืองบางกอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะฝรั่งเศสมีอำนาจและศักยภาพมากพอที่จะกระทำได้ แต่คงเป็นเรื่องประหลาดถ้าพงศาวดารไทยก็อ้างว่าปืนใหญ่จากสยามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ไปแผลงฤทธิ์เดชถล่มป้อมปราการที่เมืองปารีสสำเร็จมาแล้ว คงไม่มีใครกล้ายืนยันเรื่องพรรค์นั้นได้ หากแต่ว่ามันได้เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

“ปืนใหญ่พระนารายณ์” ที่ปารีส เป็นเรื่องเล่าทำนองพงศาวดารกระซิบที่มัคคุเทศก์ไทยนำคณะทัวร์ไปปารีสมักจะเล่าเป็นเกร็ดสอดแทรกข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศสที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2199-2231) อยู่เสมอๆ แต่มักจะหลีกเลี่ยงที่จะลงลึกไปว่าปืนใหญ่จากสยามจะทรงพลังถึงขนาดนั้นเชียวหรือ? ทั้งนี้เพราะขาดข้อมูลที่จะชี้ชัดลงไปว่าปืนใหญ่เข้าไปถึงปารีสได้อย่างไร? และทำไมถูกนำไปใช้ยิงป้อมบาสตีย์ของปารีสได้?

คำตอบของคำถามนี้ทำให้จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็จะได้ความจริงที่ว่า ใน พ.ศ. 2228 พระองค์ทรงจัดส่งคณะทูตชุดหนึ่ง นำโดย ออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เป็นราชทูต (โดยมากเป็นที่รู้จักกันในนามโกษาปาน – ผู้เขียน) ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 ถึงเมืองเบรสต์ในฝรั่งเศส วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2229

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 27 ได้บันทึกเรื่องราวของการไปครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด เพราะเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วปารีสในสมัยนั้นถึงความวิริยะอุตสาหะของคณะราชทูตไทย และความตั้งใจอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่องของราชทูตถูกตีแผ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของปารีส แต่รายละเอียดเรื่องปืนใหญ่เขียนไว้ต่างหากโดยข้าราชการประจำราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตเข้ามายังกรุงสยาม ความว่า

“หนังสือพิมพ์ชื่อ แมร์คูร์กาลัง ซึ่งเปนหนังสือพิมพ์ที่รู้ข่าวมากที่สุดในสมัยนั้น ได้เต็มไปด้วยข่าวเรื่องราชทูตสยามซึ่งเปนเรื่องที่คนทั่วไปอยากรู้ด้วยกันทุกคน และผู้ที่แต่งเรื่องลงหนังสือพิมพ์นั้น ก็ได้กล่าวว่าข้าราชการไทยเปนคนที่ดี และเปนคนที่มีความรู้ที่สุดในฝ่ายทิศตะวันออก แต่ในข่าวเรื่องเที่ยวเรื่องการรื่นเริงต่างๆ และเรื่องเบ็ดเตล็ดเท่านั้น ในสิ่งต่างๆ ที่เปนประโยชน์ในการที่ราชทูตสยามมาพูดราชการคราวนี้โดยมากไม่มีได้นึกถึงเลย

ในจดหมายเหตุที่เชอวาเลียเดอโชมองได้แต่งไว้ ได้ลงบาญชีของต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยเลอียดมาก คือมีคนโทน้ำทำด้วยทองคำ ขวดทองคำ ถ้วยทองคำ หีบทองคำ ตู้เล็กๆ ทำด้วยกระ หีบและโต๊ะยี่ปุ่น พรมมาจากเมืองฮินดูซตัน และพรมเมืองจีน กับเรือทำด้วยทองคำ ๑ ลำ และปืนใหญ่ปลอกเงิน ๒ กระบอก และเครื่องลายครามอย่างงามที่สุด ๑๕๐๐ ชิ้น ส่วนของที่คอนซตันตินฟอลคอนส่งมาถวายนั้นมี สายสร้อยทองคำ ถ้วยแก้ว กาใส่ชอกอเล็ต กล่องใส่ยานัตถุ์ เครื่องลายคราม ลับแล แจกัน ผ้าต่างๆ ลูกปัด นอแรด เขากระบือ และของต่างๆ อีกหลายอย่าง

นอกจากของเหล่านี้ยังมีของที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารี ซึ่งมีหีบเขียนหนังสือทำด้วยกระสามหีบ และหัวใจทำด้วยเงิน ๑ อัน และยังมีของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานท่านดุกเดอบูรกอยน์ และดุกดังยูอีก กับของต่างๆ ที่คอนซตันตินฟอลคอนฝากมาให้มาควิศเดอเซงแล และมาควิศเดลครัวซี รวมทั้งสิ้นของกว่า ๓๐๐๐ สิ่ง และของบางอย่างทำด้วยฝีมืออย่างประณีตงดงามยิ่งนัก ของต่างๆ เหล่านี้ได้วางเรียงไว้ในท้องพระโรงทั้งสิ้น” 

คำถามที่น่าสนใจติดตามมาคือ ทำไมสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำเป็นต้องส่งปืนใหญ่จากสยามไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทั้งที่ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบของการผลิตปืนใหญ่ทรงพลัง และมีเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำหน้ากว่าไทยมากมายนัก ทำไมไทยต้องดิ้นรนสร้างปืนใหญ่ไปข่มชาวฝรั่งเศส?

หากพิจารณาให้ดีก็จะพบคำตอบแฝงอยู่ในพงศาวดารฉบับเดียวกัน ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการโอ้อวดอย่างสิ้นคิดเลย แต่การส่ง “ปืนไฟ” หรือเครื่องศัสตราวุธไปถวายเจ้าผู้ครองนครนั้นเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตในประวัติศาสตร์อยุธยาของชาวยุโรปอย่างแพร่หลาย ดังเช่น เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว พระเจ้ามานูเอลที่ 1 กษัตริย์แห่งโปรตุเกส โปรดให้ผู้แทนพระองค์นำดาบมีฝักประดับด้วยอัญมณีมาถวายเป็นราชบรรณาการแด่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2054 แล้ว

และก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงจัดส่งปืนใหญ่ไปถวายนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรง
เปิดฉากส่งเครื่องศัสตราวุธชนิดปืนไฟทั้งปืนพกและปืนยาวเข้ามาถวายก่อนเป็นการเริ่มต้น ดังรายละเอียดของเครื่องราชบรรณาการที่เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสนำเข้ามาถวายก่อนเพื่อแสดงน้ำใจของชาวฝรั่งเศส มีรายละเอียดดังนี้

“เชอวาเลียเดอโชมองไปเปนทูตคราวนี้ ได้เชิญพระราชสาสนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ไปถวายพระเจ้ากรุงสยามฉบับ ๑ กับนำจดหมายมองซิเออร์เดอเซงแล ถึงอรรคมหาเสนาบดีไทยอีกฉบับ ๑ ในจดหมายมองซิเออร์เซงแลนั้นมีความว่า มองซิเออร์เซงแลเสียใจมากในการที่ราชทูตสยามคราวแรกได้ไปถูกอับปาง แลแสดงความนับถือและรักใคร่ต่อพระเจ้ากรุงสยามและตัวอรรคมหาเสนาบดีด้วย

แล้วพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้มอบของให้ข้าราชการไทย นำไปถวายพระเจ้ากรุงสยามด้วย ของที่ส่งไปถวายนั้นมีกระจกเงา โคมกิ่งเชิงเทียนกิ่งทำด้วยเงิน เครื่องแก้ว ผ้าไหมทออย่างดี ๑๒ ผืน ผ้าสีแดงสีน้ำเงินและสีอื่นๆ อย่างละ ๑๐๐ หลา นาฬิกามีลูกตุ้ม ๒ เรือน นาฬิกาใหญ่ ๓ เรือน ปืนพก ๘ คู่ ปืนยาว ๑๒ กระบอก และยังมีโต๊ะ ตู้เครื่องประดับเรือน พรม ดาบ พระรูปพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงม้า ๓ รูป พระรูปลงยาประดับเพ็ชร์ ๒ รูป และกระเป๋าใส่เหรียญและเหรียญทองต่างๆ ๑ กระเป๋า”

นักประวัติศาสตร์ไทยค้นพบว่า ปืนใหญ่ของโปรตุเกส เดินทางเข้ามาถึงอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2054 แล้ว ภายหลังการเปิดประเทศค้าขายกับโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ตัวอย่างของปืนใหญ่ (ทำด้วยเหล็ก) จากโปรตุเกสอายุราว 400 ปี ขุดพบบริเวณแนวป้อมเก่าที่ปากน้ำ ยังมีให้เห็นจนบัดนี้ กระบอกในสภาพที่สมบูรณ์มาก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

ชาวโปรตุเกสและปืนแบบต่างๆ พร้อมเครื่องกระสุนดินปืนของโปรตุเกส จึงเป็นที่มาของการทำตำราพิชัยสงคราม การตั้งทำบัญชีพล และการรับผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้อาวุธปืนอย่างใหม่ถูกว่าจ้างเข้ามาไว้ให้ฝึกฝนถ่ายทอดวิทยาการใช้ปืน การหล่อปืนใหญ่ ตลอดถึงการรับชาวโปรตุเกสเข้าเป็นกองทหารแม่นปืนในกองทัพไทย ทั้งยังแสดงถึงการรับเอาวิวัฒนาการของอาวุธสมัยใหม่แบบยุโรปในสมัยอยุธยา ซึ่งมีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายไม่น้อยหน้าชาวฝรั่งเศสในทวีปยุโรปเลย

ดังนั้น เพื่อสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว เครื่องราชบรรณาการที่มีมูลค่ามากกว่า หายากกว่า และเป็นของแปลกประหลาด เช่น พรมจากอินเดีย โต๊ะจากญี่ปุ่น เครื่องลายครามจากจีน และปืนใหญ่แบบยุโรป จึงเป็นรสนิยมอันสูงส่งของราชสำนักสยาม เป็นการท้าทายความรู้สึกของชาวฝรั่งเศส และต้องการแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามก็เป็นผู้เจริญและทันสมัยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จออกรับแขกเมือง ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ให้คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการ ณ ท้องพระโรงที่เรียกกันว่า ซาลองเดอลาเป (Salon de la Paix = ห้องแห่งสันติภาพ) ในปัจจุบันเรียกว่า ห้องกระจก (Hall of Mirrors)

ปืนใหญ่พระนารายณ์ พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการจำนวนมากถูกนำมาวางระเกะระกะอยู่เบื้องหน้าพระแท่นบัลลังก์ เพื่อให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทอดพระเนตร ท่ามกลางความตื่นตะลึงของบรรดาเหล่าขุนนางและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ณ ที่นั้น 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “ปืนใหญ่พระนารายณ์ และธงช้างเผือกที่ปารีส เดี๋ยวนี้เหลือเพียงตำนาน” โดย ไกรฤกษ์ นานา ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557 หน้า 95-100.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560