“โรงเรียนทหารสราญรมย์” จากมหาดเล็กไล่กา สู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

อาคารเรียนแบบตะวันตกของโรงเรียนทหารสราญรมย์เมื่อแรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 2411 มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงคัดเลือกข้าหลวงเดิมจำนวน 12 คน จัดเป็นทหารมหาดเล็กเด็ก เรียกว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา” ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมาจิกกินข้าวสุกเวลาทรงบาตร จัดตั้งเป็นบอดี้การ์ดให้รับการฝึกทหารแบบยุโรป ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารมหาดเล็กชุดนี้ว่า “ทหาร 2 โหล”1

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเริ่มตั้งทหารมหาดเล็กในส่วนนี้ว่า “ที่จริงทหารมหาดเล็กนั้นเริ่มทรงจัดมาแต่ปีมะเส็ง (พ.ศ. 2412) เหตุด้วยเมื่อก่อนเสวยราชย์ มีลูกผู้ดีถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่มากด้วยกัน ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 พวกมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเหล่านี้ก็เข้ามาสมทบเป็นมหาดเล็กหลวงตามประเพณี มีคนในกรมมหาดเล็กมากเกินการ จึงโปรดฯ ให้เลือกคัดมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่กำลังหนุ่มแน่นเป็นทหารประมาณสัก 20 คน พระราชทานเครื่องแบบให้แต่งตัวและให้ครูทหารหน้าเข้ามาหัดถวายทอดพระเนตรเมื่อเสด็จออกข้างหน้าเวลาบ่ายทุกๆวัน”2

จวบจนกระทั่งปีพุทธศักราช 2413 ได้ขยายกิจการทหารมหาดเล็กตั้งเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ “เวลานั้นพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้เป็นจางวางมหาดเล็กขึ้นใหม่ เลื่อมใสตามพระราชดำริ จึงชักชวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่เจ้าพระยาเสนาบดีลงไป ให้ถวายลูกชายเป็นมหาดเล็กทหาร จำนวนคนก็มากขึ้นโดยลำดับ3 ถึงปีมะเมีย (พ.ศ. 2413) จึงโปรดฯ ให้ตั้งเป็นกรมทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์ ทรงเลือกพวกลูกผู้ดีที่ได้ฝึกหัดนั้นตั้งเป็นนายร้อยนายสิบบังคับบัญชาตามวินัยทหาร ขึ้นอยู่ในจางวางมหาดเล็กเหมือนกับมหาดเล็กฝ่ายพลเรือน ประดิษฐานพระองค์เป็นตำแหน่งนายพันเอกผู้บังคับการ”4

รูปด้านหน้าโรงเรียนทหารสราญรมย์ นับเป็นแบบอาคารแบบตะวันตกที่ยาวที่สุดที่ก่อสร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากหนังสือ “สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔-พ.ศ. ๒๔๘๐” โดย อาจารย์สมชาติ จึงศิริอารักษ์, ๒๕๕๓)

ในเวลาชั้นต้นนั้น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ยังมิได้จัดตั้งกองแบ่งออกเป็นหมู่หมวดกันไม่ เป็นแต่จัดตั้งเป็นแถวในเวลาฝึกหัดกับผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาประจำเวรประจำราชการและฝึกหัด เข้าเวร 7 วัน ออกเวร 7 วัน พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้คิดร่างกฎข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ขึ้นเป็นกฎข้อบังคับ 40 ข้อ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์5

ปีพุทธศักราช 2414 เมื่อกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ได้เริ่มต้นจะได้ตั้งลงเป็นระเบียบ และจะได้ดำเนินการต่อไปโดยเป็นหลักฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับตำแหน่งพิเศษด้วยพระองค์เป็นโคโลเนล (นายพันเอก) พระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นเล็บเตอร์เนนท์โคโลเนล (นายพันโท) ผู้บังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เมื่อยังเป็นนายราชาณัติยานุหาร เป็นแอตยุแตนท์ (ปลัดกรม) และโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า “กอมปานี” (Company) มีถึง 6 กองร้อย นายกอมปานีทั้ง 6 กองร้อยรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นตำแหน่งหลวงและตำแหน่งยศเป็นเอ็นไซน์ (นายร้อยตรี)6

โรงเรียนทหารสราญรมย์ มีรูปแบบการก่อสร้างอาคารเป็นแบบนีโอคลาสสิค ผังอาคารเป็นรูปตัว E เน้นจุดเด่นที่มุขขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมุขกลางมีแผงประดับหน้ามุข ประกอบด้วยตราประจำพระองค์รัชกาลที่ ๕

ในปีพุทธศักราช 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนพิเศษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก7 เพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยให้ทหารมหาดเล็ก8 อันเป็นที่มาของ “คะเด็ตทหารมหาดเล็ก” ทรงเร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ และจัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้นในปีพุทธศักราช 2423 ซึ่งต่อมาวิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทหารอย่างใหม่9

รูปด้านหน้าโรงเรียนนายร้อยมัธยม ที่ถนนราชดำเนิน จุดเด่นจะอยู่ที่มุขกลางด้านหน้าที่มีชายคายื่นยาวออกมา ซึ่งแตกต่างจากอาคารสำคัญอื่นๆ (ภาพจากหนังสือ “สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔-พ.ศ. ๒๔๘๐” โดย อาจารย์สมชาติ จึงศิริอารักษ์, ๒๕๕๓)

เมื่อกิจการทหารเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนทหารบกขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2430 ในระยะแรกโรงเรียนนี้มีชื่อว่า “คะเด็ตสกูล” (Cadet School) สำหรับนักเรียนว่า “คะเด็ต” (Cadet) มี นายพันเอกนิคาล วอล์เกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนคนแรก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงตอนต้นรัชกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการฝึกทหารมหาดเล็กขึ้นไว้ในพระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อมีลูกผู้ดีเข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กมากขึ้น ประกอบกับพระราชประสงค์ที่จะดำเนินกิจการทหารอย่างใหม่ จึงได้ย้ายกรมทหารมหาดเล็ก จัดตั้งเป็นโรงเรียนโดยใช้แบบแผนอย่างในยุโรป และโปรดให้ใช้พื้นที่หลังพระราชวังสราญรมย์เป็นที่จัดตั้งโรงเรียน ในชั้นแรกโปรดให้สร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นอาคารไม้มุงสังกะสี มีนักเรียนเริ่มแรกประมาณ 160 นาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 จึงเปลี่ยนจากชื่อเรียก คะเด็ตสกูล เป็น “โรงเรียนทหารสราญรมย์”

อาคารเรียนโรงเรียนนายร้อยมัธยม ที่ถนนราชดำเนิน มุขกลางกว้าง ๕ ช่วงเสา ๓ ช่องกลางยื่นเป็นมุขออกไปเป็นระเบียงโปร่ง อาคารหลังนี้ปัจจุบันป็นตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก

อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนทหารสราญรมย์ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2433 แล้วเสร็จในปี 2435 โดยชั้นบนจัดให้เป็นหอพักของนักเรียนทหาร สำหรับชั้นล่างจัดให้เป็นห้องเรียน 4 ห้องเรียน สำหรับนักเรียน 4 ระดับชั้น โดยในช่วงแรกมีนักเรียนประมาณ 100 คน มี นายสเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) และ นาย ไอ.ดี. คาสตร์ (I.D. Castre)10 สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ11

รูปแบบอาคารเป็นแบบนีโอคลาสสิค (Classsicism) ผังอาคารเป็นรูปตัว E เน้นจุดเด่นที่มุขขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมุขกลางมีแผงประดับหน้ามุข ประกอบด้วยตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 19.35 เมตร ยาว 127.50 เมตร เป็นแบบ 5 ส่วน เน้น 3 ส่วน ซึ่งเน้นทางเข้าโดยทำเป็นมุขซุ้มประตู และซุ้มอีก 4 จุด (มุขที่มุมถนนราชินีเป็นการต่อเติมภายหลัง)

อาคาร เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น เน้นจุดสำคัญ 3 จุด คือ ตรงกลางและหัวท้าย มุขกลางเป็นตึกใหญ่สูง 3 ชั้น มีหน้าบันที่ประดับชั้น 2 เป็นหน้าบันจั่วแบบวิหารกรีก ชั้นที่ 3 เป็นหน้าบันโค้ง ถัดออกมาคือทางเข้าใหญ่ เป็นทางคู่ขนาบมุขกลางโดยทำประตูใหญ่เยื้องมุขกลางทั้ง 2 ข้าง เน้นมุขด้วยเสา Doric รับหน้าบันที่มีลักษณะเป็นป้ายสูงยอมจั่วแบบ Mannerism มุขทั้งสามเชื่อมด้วยอาคารยาวสูง 2 ชั้น ชั้นล่างหน้าต่างเจาะช่องวงโค้ง (Segmental Arch) หน้าต่างชั้นบนเจาะช่องสี่เหลี่ยม หน้าต่างเป็นบานเกร็ดทั้งสองชั้น ตัวอาคารก่ออิฐเลียนแบบการก่อหินในธรรมชาติ (Rustication) โครงสร้างอาคารเป็นระบบกำแพงรับน้ำหนัก โครงสร้างหลังคาเป็นโครงสร้างไม้12

อาคารเรียนหลังนี้ถือเป็นอาคารเรียนแบบตะวันตกหลังที่ 2 ในกรุงเทพฯ13 ที่มีการตกแต่งประดับประดาอาคารอย่างหรูหราเพื่อเสริมทัศนียภาพของพระนครให้ทันสมัยด้วยการสร้างอาคารรูปแบบตะวันตกที่ใหญ่โตรายล้อมพระบรมมหาราชวัง หากสิ่งที่แปลกไปคือผังอาคารที่มีการวางห้องเรียงต่อกันจนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวมาก ซึ่งรองรับลักษณะการใช้งานโดยเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กโตลูกชนชั้นสูง และยังเป็นโรงเรียนกินนอนที่จัดที่พักนักเรียนไว้ที่ชั้นบนของอาคาร14

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2440 โปรดให้รวมกิจการของโรงเรียนทหารสราญรมย์และโรงเรียนนายสิบเข้าด้วยกัน เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสอนวิชาทหารบก แต่ต่อมาก็ให้ย้ายโรงเรียนนายสิบกลับไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกครั้งเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2450 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม15

อาคารเรียนของโรงเรียนทหารสราญรมย์ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร

เนื่องจากผู้ประสงค์จะเข้ารับการศึกษามีจำนวนมาก แต่สถานที่เรียนคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินบริเวณติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมขึ้น (ส่วนโรงเรียนนายร้อยปฐมยังอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เช่นเดิม) และขยายการศึกษาเพิ่มในระดับมัธยม พร้อมทั้งมีการก่อสร้างเป็นอาคารหลังใหม่ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2452

อาคารเรียนโรงเรียนนายร้อยมัธยม ที่ถนนราชดำเนิน ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2452 เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Classsicism) เช่นเดียวกับโรงเรียนนายทหารสราญรมย์หลังแรก ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12.00 เมตร ยาว 98.40 เมตร ที่เน้นในสมมาตรทั้ง 2 ข้าง มีจุดเด่นที่มุขใหญ่ส่วนกลางซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้น เน้นแกนกลางโดยยกสูง 3 ชั้น หน้าบันตกแต่งลายปูนปั้นเป็นรูปพระเกี้ยวและอุณาโลม

หลังคาเป็นทรงปั้นหยา ผนังทึบเจาะหน้าต่าง แบ่งช่วงหน้าต่าง แบ่งช่องโดยใช้แนวกำแพงประดับเสาอิง เสาอิงนั้นตกแต่งเลียนแบบการก่อสร้างด้วยหิน (Rustication) เน้นกรอบหน้าต่างและบัวน้ำตกมาก โดยทาสีตัดกันกับผนัง ทำให้หน้าต่างและบัวน้ำตกดูโดดเด่น นอกจากนั้นยังมีการเน้นเส้นแบ่งระหว่างชั้นเป็นบัวปูนปั้นชัดเจน

อาคารหลังนี้นับได้ว่าเป็นอาคารเรียนแบบตะวันตกในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งการวางผังอาคารไม่ต่างจากอาคารเรียนอื่นๆ นั่นคือการวางผังแบบสมมาตร มีทางเดินเชื่อมด้านหลังยาวตลอดทั้งชั้น เจาะช่องเปิดถี่มากขึ้น และมีช่องระบายอากาศเหนือทุกช่องหน้าต่างและประตู ด้านหน้าอาคารมีลานกว้างสำหรับทำกิจกรรม16

แต่สิ่งที่แตกต่างคือลักษณะชายคายื่นยาวของมุขกลางด้านหน้า ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นในอาคารสำคัญตอนช่วงต้นรัชกาล โครงสร้างทั่วไปก่ออิฐฉาบปูนยกเว้นมุขกลางสูง 3 ชั้น และเป็นจุดเด่นของอาคาร มุขกลางนี้กว้าง 5 ช่วงเสา 3 ช่วงกลางยื่นเป็นมุขออกไปเป็นระเบียงโปร่ง มุขหน้านี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ช่วงกลางกว้างเป็น 2 เท่าของช่วงริมสองข้าง โครงสร้างเป็นเสาลอยตัว 4 ต้นเด่นชัด ชั้นล่างเป็นโครงสร้างคานโค้งเสี้ยวและครึ่งวงกลมทั้ง 3 ช่วง

ชั้น 2 และ 3 เป็นโครงสร้างกรอบสี่เหลี่ยมแบบเสารับคาน แต่แต่งใต้คานเป็นคานโค้งเสี้ยววงกลมและครึ่งวงกลมทำด้วยไม้เลียนแบบงานเครื่องปูน หลังคามุขหน้าเป็นจั่วแบบกรีก แต่สร้างด้วยไม้ยื่นไขรา โครงหน้าบันเป็นแบบไทยผสมตะวันตก17

ในช่วงปี พ.ศ. 2468 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยฝืดเคือง รัฐบาลจึงต้องพยายามลดงบประมาณประเภทรายจ่ายลง ในขณะนั้นมีการยุบโรงเรียนหลายแห่งเข้าด้วยกัน เช่น โรงเรียนราชวิทยาลัยยุบมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใช้ชื่อว่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้นโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมก็ให้ย้ายจากบริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์มารวมเข้ากับนายร้อยชั้นมัธยมที่ถนนราชดำเนินนอก จัดนักเรียนให้เหลือเพียง 6 ชั้นเรียน และให้รวมเรียกชื่อใหม่ว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก

จวบจนปีพุทธศักราช 2491… ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์และเฉลิมพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิด พระราชทานตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม เป็นตราประจำโรงเรียนและเป็นเครื่องหมายสังกัดของนักเรียนนายร้อย จวบจนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ย้ายโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาตั้งที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก18

ส่วนอาคารเรียนที่โรงเรียนนายทหารสราญรมย์นั้น ปัจจุบันได้ถูกให้เป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร และอาคารเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่ถนนราชดำเนินนอก ก็ถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบกจวบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

1 ประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ความทรงจำ”. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดพิมพ์ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน, น. 153-154.

3 ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) เลือกคัดเก็บเอาบรรดาราชวงศ์ที่มีอายุกำลังฉกรรจ์นั้น เข้ามารวบรวมฝึกหัดรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในไม่ช้าเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยได้นำบุตรหลานเข้ามาสมัครถวายตัวเป็นทหารรักษาพระองค์ในคราวนั้น เป็นจำนวนคนทั้งผู้ใหญ่เด็กเป็นคน 1,000 คนเศษ (เจิม แสง-ชูโต. ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี. น. 11.)

4 เรื่องเดียวกัน, น. 154.

5 เจิม แสง-ชูโต. “ปกรณ์ 2,” ใน ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี. น. 11.

6 กอมปานีที่ 1 นายทุ้ย บุนนาค บุตรเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นหลวงสาตราธิกรฤทธิ์ กอมปานีที่ 2 นายบุษย์ บุณยรัตพันธ์ บุตรพระยาภูธราภัย สมุหนายกเป็นหลวงวิทยาธิกรศักดิ์ กอมปานีที่ 3 นายเจ็ก จารุจินดา บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (จีน) เป็นหลวงสรจักรานุกิจ กอมปานีที่ 4 นายดั่น บุตรพระยาพิไชยสงคราม (อ่ำ) เป็นหลวงสรสิทธิยานุการ กอมปานีที่ 5 พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ว่าที่หลวงศิลปสารสราวุธ แล้วภายหลัง นายเล็ก บุนนาค บุตรพระยาวงศาภูษิต ได้รับพระราชทานตำแหน่งแทน กอมปานีที่ 6 นายเจิม แสง-ชูโต บุตรพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นหลวงศัลยุทธสรกรร (เจิม แสง-ชูโต. ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี. น. 12.)

7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสร้างโรงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้พระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค) เป็นแม่กองการก่อสร้าง พระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นกงสีซื้อจ่ายในการก่อสร้างนั้น การก่อสร้างได้จัดซ่อมแซมโรงละครเก่าหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง และสร้างตึกยาวแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ประตูพิมานไชยศรีตรงลงมาตามถนนจักรีจรัล ตลอดลงมาจนถึงโรงช้างลูกขุน กับสร้างหอมิวเซียมเป็นที่ไว้ของประหลาดต่างๆ (ศาลาสหทัยสมาคม) สร้างตึกคลังสำหรับเก็บเครื่องยุทธภัณฑ์และโรงเลี้ยงอาหาร และโรงม้า เป็นต้น (เรื่องเดียวกัน, น. 14.)

8 เวลานั้นพวกที่สมัครเข้ามาถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กมีหลายรุ่น ที่ยังเป็นรุ่นเด็กก็มีอยู่เป็นอันมาก ซึ่งจำเป็นต้องให้เล่าเรียนมีความรู้ในวิชาชั้นประถมศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นชั้นแรก ที่ห้องตึกแถวด้านตะวันตกเป็นที่เรียนหนังสือไทย มีพระสารประเสริฐ (น้อยปลัดทูลฉลองเป็นครูผู้สอน) ที่ห้องแถวด้านตะวันออกเป็นที่เรียนหนังสืออังกฤษ มี นายแฟรนซิส, ยอร์ช, ปิเตอร์สัน ชนชาติอังกฤษเป็นครูผู้สอน (เรื่องเดียวกัน, น. 14-15.)

9 กรมยุทธนาธิการเมื่อเริ่มแรกรวบรวมกรมทหารขึ้น 9 กรม ได้แก่ กรมทหารบก 7 กรม กรมทหารเรือ 2 กรม รวมเรียกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า กรมยุทธนาธิการ

10 สมาคมสถาปนิกสยาม. “กรมแผนที่ทหาร,” ใน มรดกทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. น. 36.

11 ข้อมูลจากเอกสารบางฉบับมีเพียง นายสเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) เป็นผู้ออกแบบเพียงคนเดียว แต่เอกสารบางฉบับมี นาย ไอ.ดี. คาสตร์ (I.D. Castre) เป็นผู้ร่วมออกแบบด้วย

12 จากวิธีการออกแบบอาคารในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะการเน้นแผงหน้าบัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ นายสเตฟาโน คาร์ดู จึงทำให้มีผู้สันนิษฐานว่าเขาอาจเป็นผู้ร่างแบบอาคารสุนันทาลัยก็ได้ (สุชาติ จึงสิริอารักษ์, น. 205.)

13 หลังแรกคืออาคารสุนันทาลัย ก่อสร้างในปีพุทธศักราช 2425 ปัจจุบันคือโรงเรียนราชินีล่าง

14 วฎัรยา หุ่นเจริญ. “โรงเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6”. ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, น. 91.

15 การศึกษาในโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม เป็นการศึกษาวิชาสามัญเหมือนเช่นโรงเรียนทั่วไป ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมให้เรียนเฉพาะวิชาทหารและการฝึกกระบวนยุทธ์

16 วฎัรยา หุ่นเจริญ. “โรงเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6”. น. 119.

17 สุชาติ จึงสิริอารักษ์. “สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” ใน สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4-พ.ศ. 2480. น. 213.

18 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. อาคารโรงเรียน จปร. 100 ปี อนุสรณ์แห่งเกียรติประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. กรุงเทพฯ, 2533, น. 15-20.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2561