เหตุอัศจรรย์ในการอัญเชิญพระพุทธชินราช “มุขปาฐะในพื้นที่พิษณุโลก”

พิธีอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองเข้าประดิษฐานภายในพระ อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนา ราม ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงเวลาที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือลงมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในพระอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ก็พบว่ามีการอัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นกัน พระศรีศาสดาได้รับการอัญเชิญลงมาโดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี มาประดิษฐานยังวัดบางอ้อยช้าง ต่อมาอัญเชิญไปยังวัดประดู่ฉิมพลี และวัดบวรนิเวศวิหาร ตามลำดับ พระพุทธชินสีห์ได้รับการอัญเชิญลงมาในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดบวรนิเวศนิหาร เป็นอันว่าพระพุทธรูปสำคัญทั้ง 2 องค์นี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่กรุงเทพมหานคร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

สำหรับพระพุทธชินราชนั้นไม่เคยได้รับการอัญเชิญไปที่ใด ยังคงประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกเรื่อยมา แต่เรื่องเล่าในพื้นที่เมืองพิษณุโลกได้มีการกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายพระพุทธชินราชออกจากพระวิหาร เพื่ออัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงต้องการหาพระพุทธรูปที่มีความงามเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปรากฏข้อความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปที่จะทรงนำมาเป็นพระประธานในพระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ดังนี้

“ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเปนพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง ตลอดจนกระทั่งถึงเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน พระที่ควรจะเชิญลงมาได้ก็ได้เชิญลงมาโดยมาก ที่เชิญลงมาไม่ได้ก็ได้ให้ถ่ายรูปมาดู มีพระเจ้า 5 ตื้อ พระเจ้า 9 ตื้อ พระเจ้าล้านทอง เปนต้น ก็ไม่เปนที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้งามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว”

จากเนื้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกลงมาสู่กรุงเทพมหานคร แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็มิได้ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมาสู่กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม พระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปกรุงเทพมหานครน่าจะแพร่กระจายถึงชาวเมืองพิษณุโลก จึงเกิดเป็นเรื่องเล่าถึงการอัญเชิญพระพุทธชินราชออกจากเมืองพิษณุโลกไม่สำเร็จด้วยเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์เป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะสำนวนต่างๆ มีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ว่า

“เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 มีความประสงค์อัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตร ได้เคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อออกมาจากวิหารเพื่อนำไปลงแพที่ลำน้ำน่านหน้าวิหารหลวงพ่อเพื่อล่องลงมายังกรุงเทพ แต่เมื่ออัญเชิญออกมาแล้วก็เกิดเหตุอัศจรรย์ไม่สามารถเข็นหลวงพ่อเพื่อไปลงแพได้ หรือเมื่อเข็นไปลงแพแล้ว แพก็จอดนิ่งไม่ขยับจึงไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อลงไปกรุงเทพได้ หลวงพ่อพระพุทธชินราชจึงประดิษฐานในเมืองพิษณุโลกดังเดิม”

นอกจากสำนวนข้างต้นยังมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับการอัญเชิญพระพุทธชินราชในเหตุการณ์เดียวกันอีกสำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ แต่เป็นเรื่องเล่าจากชาวจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดพิษณุโลก จึงขอนำมาเสนอไว้ด้วยกัน เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าประวัติหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตร ว่า

“เมื่อรัชกาลที่ 5 มีความประสงค์อัญเชิญพระพุทธชินราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร จึงมีกระแสรับสั่งให้หาพระพุทธรูปที่มีความงดงามมาประดิษฐานแทนพระพุทธชินราช สมุหเทศาภิบาลทราบว่าหลวงพ่อเพชรมีความงามจึงสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรเตรียมอัญเชิญหลวงพ่อเพชรมาเมืองพิษณุโลก ประชาชนชาวพิจิตรทราบข่าวจึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากเมืองพิจิตรเก่า (วัดนครชุม) ไปซ่อนที่ต่างๆ สุดท้ายก็ถูกค้นพบแล้วนำมาประดิษฐานไว้เมืองพิจิตรใหม่ (วัดท่าหลวง) เพื่อรออัญเชิญไปเมืองพิษณุโลก

สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่าชาวเมืองพิษณุโลกหวงแหนพระพุทธชินราช พากันโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งถึงกับร้องไห้กันทั้งเมือง รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลกจึงโปรดเกล้าฯ ระงับการอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมากรุงเทพแล้วให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองแทน หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่วัดท่าหลวงจนถึงปัจจุบันนี้”

จากเรื่องเล่ามุขปาฐะหลวงพ่อพระพุทธชินราชในพื้นที่พิษณุโลกมีเนื้อหานำเสนอเล่าถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธชินราชที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานยังสถานที่อื่น ถึงแม้จะใช้กำลังเคลื่อนย้ายมากเท่าไรก็ตาม หรือแม้อัญเชิญลงแพได้แต่แพก็กลับจอดนิ่งเป็นนัยว่า พระพุทธชินราชจะต้องประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองพิษณุโลกแห่งนี้เท่านั้น

สอดคล้องกับเรื่องเล่ามุขปาฐะประวัติหลวงพ่อเพชรซึ่งแม้ไม่มีการกล่าวถึงอภินิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราชโดยตรงก็ตาม อาจเพราะด้วยเป็นเรื่องเล่าจากชาวจังหวัดพิจิตร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเล่าจากนอกพื้นที่เมืองพิษณุโลก จากเนื้อหาว่าเมื่อสมุหเทศาภิบาลนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ถึงความเศร้าโศกของชาวเมืองพิษณุโลกที่หวงแหนพระพุทธชินราช พระองค์จึงทรงระงับการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปยังกรุงเทพมหานครแล้วโปรดเกล้าฯ ให้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน

เรื่องเล่านี้ยังคงแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระพุทธชินราชที่ควรประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกเช่นเดิม สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาอารักษ์จึงดลให้รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยเป็นการหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลอง

ดังที่กล่าวแล้วว่าถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกลงมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่สุดท้ายพระองค์ก็มิได้ทรงเคลื่อนย้ายหรืออัญเชิญพระพุทธชินราชออกจากเมืองพิษณุโลก โดยเปลี่ยนให้หล่อพระพุทธชินราชองค์จำลองแทน พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ในปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ดังนี้

ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเปนหลักเปนศิริของพิศณุโลก ประดิษฐานอยู่ในเมืองนั้นตั้งแต่สร้างเมืองมาถึง 900 ปีเศษแล้ว แลพระพุทธชินสีห์ซึ่งเชิญมาแต่ก่อนก็ไม่เปนที่ชอบใจของชาวเมืองพิศณุโลกเปนอันมาก ยังมีคำเล่ากันอยู่จนทุกวันนี้ว่า เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เปนอันมากเงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไปถึง 3 ปี ชาวเมืองพิศณุโลกได้รับความยากยับไปเปนอันมากตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า เพราะที่ท่านไปเชิญพระพุทธชินสีห์อันเปนศิริของเมืองพิศณุโลกลงมานั้น เห็นว่าการที่ถือต่างๆ เช่นนี้จะไม่ควรถือก็ตาม แต่ไม่ควรจะทำการกุศล ให้เปนที่เดือดร้อนรำคาญ ไม่เปนที่พอใจของคนเปนอันมาก จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช 

จากเนื้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองพิษณุโลก อีกทั้งทราบถึงการอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมากรุงเทพมหานครเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และคำบอกเล่าในเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าชาวเมืองพิษณุโลกมีความเศร้าโศกเป็นอันมาก เมืองทั้งเมืองเงียบสงัดดัง “ศพลงเรือน” ฝนแล้งถึง 3 ปี

อีกทั้งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพหลังจากอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาแล้วก็ประชวรอยู่ปีเศษจึงสวรรคต คำบอกเล่าต่างๆ เมื่อครั้งอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ออกจากเมืองพิษณุโลกน่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนพระราชหฤทัยของพระองค์ที่จะทำการหล่อพระพุทธชินราชองค์จำลองแทนการอัญเชิญพระพุทธชินราชองค์จริงลงมายังกรุงเทพมหานคร และเพื่อไม่สร้างความเศร้าโศกต่อชาวเมืองพิษณุโลกเหมือนครั้งที่ผ่านมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องเล่า ‘หลวงพ่อพระพุทธชินราช’ มุขปาฐะในพื้นที่พิษณุโลก” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 6 เมษายน 2562