วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง”

วังใหม่ที่ปทุมวัน ตำหนักวังใหม่
ตำหนักวังใหม่ มองจากทิศเหนือ

วังใหม่ที่ปทุมวัน เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2424 ที่ตำบลปทุมวัน เพื่อพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 4 มกราคม พ.ศ. 2437) อันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี หากสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นเสด็จทิวงคตเสียเมื่อ พ.ศ. 2437 วังใหม่จึงไม่เคยเป็นที่ประทับ และต่อมาในปลายรัชกาลจึงโปรดให้โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปตั้งอยู่ที่วังนั้น

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อพระราชปณิธานด้านการศึกษาของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยโปรดให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่ตำบลปทุมวันใน พ.ศ. 2453 โดยใช้วังใหม่เป็นอาคารเรียนสำหรับแผนกกสิกรรมและยันตรศึกษา (วิศวกรรมศาสตร์) ในระยะต้น และแผนกวิทยาศาสตร์ในระยะถัดมา

แม้เมื่อรัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสืบมาแล้ว วังใหม่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยใช้เป็นอาคารเรียนและหอพักนิสิตสืบต่อมา

ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย วังใหม่ที่ปทุมวัน มีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในสถาปัตยกรรมไทยในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และในการขยายตัวของพระนครสมัยใหม่ นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในคติธรรมเนียมการสืบราชสมบัติ จากแบบประเพณีโบราณมาเป็นระบบมกุฎราชกุมารอย่างตะวันตกอีกด้วย

อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้เรายังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมวังใหม่ เนื่องจากตัววังถูกรื้อทำลายลงโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2479 เพื่อสร้างสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ คงเหลือร่องรอยของวังอยู่เพียงในชื่อตำบลวังใหม่ เขตปทุมวัน เท่านั้น

ที่ปทุมวัน

ที่ปทุมวันเป็นที่นานอกพระนครทางด้านทิศตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบผืนใหญ่ที่เรียกว่าทุ่งบางกะปิ บางส่วนเป็นที่ลุ่มที่มีบัวหลวงมากมายมาแต่เดิม บางส่วนเป็นที่นาหลวง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะจับจองไว้ตั้งแต่มีการขุดคลองไปบางขนากในรัชกาลที่ 3 [1]

ต่อมาใน พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้สร้างพระราชวังและพระราชอุทยานขึ้น ณ ตำบลนั้นสำหรับเสด็จประพาส และเพื่อให้ราษฎรไปแล่นเรือได้เหมือนครั้งกรุงเก่า โดยมีคลองแสนแสบเป็นเส้นทางเชื่อมโยง [2] เป็นส่วนหนึ่งของการขยายพระนครออกมาทางด้านตะวันออกในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ซึ่งแนวความคิดที่จะขยายการพัฒนาเมืองมาในทิศทางนี้คงมีสืบมาจนตลอดรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศประสูติใน พ.ศ. 2421 นั้น พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 หลายพระองค์กำลังทรงเจริญพระชันษาพอที่จะทรงมีวังเป็นของแต่ละพระองค์เอง ซึ่งทำให้มีการสร้างวังพระราชทานพระเจ้าน้องยาเธอหลายแห่งตามแนวถนนบำรุงเมือง ถนนเจริญกรุง และถนนมหาชัย ภายในกำแพงพระนครด้านตะวันออก [3]

ส่วนบริเวณปทุมวันนั้น ใน พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้สร้างวังสำหรับพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณขึ้น ในที่ที่รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานไว้แต่เดิม [4] และในปีเดียวกันนั้นก็ทรงซื้อที่นาและสวนในบริเวณเดียวกัน เพื่อเตรียมไว้ทำวังพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้เพียง 3 พรรษา [5]

ที่ดินบริเวณปทุมวันที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อเพื่อทำวังใหม่นั้น เป็นที่สวนซึ่งเดิมเป็นสมบัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้อาจได้เข้าจับจองที่ดินในบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่ครั้งที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ท่านเป็นแม่กองในการสร้างพระราชอุทยานที่ปทุมวัน และการก่อสร้างวัดปทุมวนารามใน พ.ศ. 2396 แล้ว [6] ที่ดินนั้นได้ตกทอดมาเป็นของเจ้าคุณนุ่มและเจ้าคุณเป้า ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาองค์นั้น ซึ่งได้นำที่ดินดังกล่าวขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายขายแก่รัชกาลที่ 5 ตามพระราชประสงค์ [7]

นอกจากที่ดินผืนดังกล่าวแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2423-2424 นั้นปรากฏว่ารัชกาลที่ 5 ทรงรวบรวมที่นาและที่สวนบริเวณปทุมวันไว้ได้เป็นอันมากด้วยการจัดซื้อจากราษฎร โดยโปรดให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นผู้ดำเนินการ และโปรดให้หลวงชลยุทธโยธินทร์ (กัปตันริชลิว ชาวเดนมาร์ก) เป็นผู้จัดทำแผนที่และปักหมุดกำหนดเขตที่ดิน [8]

โดยรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งไปทอดพระเนตรที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วยพระองค์เองอย่างน้อย 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ. 2424 และนอกจากนี้ยังปรากฏว่ารัชกาลที่ 5 ยังมีพระบรมราโชบายที่จะพัฒนาที่ดินแถบนี้เพิ่มเติม โดยโปรดให้ขุดคลองเพื่อกำหนดเขตที่ดิน พร้อมทั้งทำสะพานข้าม [9] และโปรดให้ขุดลอกคลองหัวลำโพงให้กว้างและลึกขึ้นเพื่อความสะดวกแก่การเดินเรือในอนาคต [10]

วังบูรพาภิรมย์

การพัฒนาที่ดินบริเวณปทุมวันครั้งนั้นอาจมองได้ว่าเป็นการเจริญรอยตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ซึ่งมักจะมีการพระราชทานที่ดินสำหรับทำวังที่อยู่ใกล้เคียงกับถนนหลักสายใดสายหนึ่งในพระนคร พร้อมทั้งพระราชทานตึกแถวของพระคลังข้างที่ที่อยู่บริเวณนั้น เพื่อพระเจ้าลูกยาเธอจะได้ทรงมีรายได้จากค่าเช่าตึกแถวและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ สืบไป

แต่ในทางกลับกัน การสร้างวังใหม่ที่ปทุมวันนั้นต่างออกไปอย่างมากจากการสร้างวังเจ้านายในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ตรงที่เป็นการสร้างวังใหม่นอกเขตพระนครสำหรับเจ้านายผู้ทรงพระอิสริยยศระดับสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงจากคตินิยมเดิมที่ถือว่าพื้นที่นอกพระนครเป็นที่รกร้างห่างไกลจากศูนย์กลางของความเจริญและพระราชอำนาจในพระบรมมหาราชวัง มาเป็นคติใหม่ที่ถือว่าพื้นที่นอกพระนครเป็นที่สบาย สามารถสร้างวังได้ใหญ่โตสมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ทั้งยังมีที่นาที่สวนมากมายรอบบริเวณวัง อันย่อมจะสร้างผลประโยชน์ให้แก่องค์เจ้าของวังนั้นตั้งแต่ยังมิได้เสด็จไปประทับ และเมื่อทรงเจริญพระชันษาจนออกวังแล้วก็คงมีชุมชนเกิดขึ้นรอบวัง ผลประโยชน์ต่างๆ ก็คงทวีขึ้นเป็นลำดับ

วังใหม่

หลังจากที่ได้มีการจัดซื้อและปรับปรุงที่ดินบริเวณปทุมวันแล้ว การก่อสร้างวังใหม่ก็เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2424 โดยรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อพระฤกษ์ด้วยพระองค์เอง [11] และเสด็จไปทอดพระเนตรการก่อสร้างอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง [12] การก่อสร้างวังใหม่แล้วเสร็จในราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2427 [13]

ตำหนักที่วังใหม่เป็นผลงานการออกแบบก่อสร้างของนายโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) ช่างชาวอิตาเลียนซึ่งเปิดบริษัทออกแบบรับเหมาก่อสร้าง Grassi Brothers & Co. ในกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. 2413-2437 ผลงานออกแบบก่อสร้างที่สำคัญก่อนที่นายแกรซีจะมาทำวังใหม่ ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน (พ.ศ. 2415-2419) วังบูรพาภิรมย์ (พ.ศ. 2418-2424) วัดนิเวศธรรมประวัติ (พ.ศ. 2419-2421) ตำหนักกลาง ตำหนักพรรณราย วังท่าพระ (พ.ศ. 2423) [14] และวังของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (พ.ศ. 2423) [15]

อาคารเหล่านี้ล้วนมีรูปแบบอย่างตะวันตกต่างๆ กันไป สะท้อนถึงความนิยมในรูปแบบตะวันตกของชนชั้นนำสยามในสมัยนั้น และลักษณะอันหลากหลาย (eclectic) ของสถาปัตยกรรมตะวันตกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19

ผังตำหนักเป็นแบบไม่สมมาตร มี 4 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วยห้องจัดเลี้ยง ห้องนั่งเล่น ห้องพักคอย ห้องอาหาร ห้องนอน และห้องน้ำหลายห้อง ชั้น 2 เป็นส่วนที่ประทับ ประกอบด้วยโถงทางเข้า ห้องพักคอย ห้องนั่งเล่น ห้องเสวย ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องทรงบิลเลียด และห้องทรงพระอักษร ชั้น 3 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องมหัคฆภัณฑ์ และเฉลียงดาดฟ้า ส่วนชั้น 4 เป็นห้องเล็กเฉพาะส่วนหอคอยแปดเหลี่ยมด้านทิศตะวันออก

รูปทรงอาคาร จึงแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกได้แก่ส่วนโถงทางเข้า ห้องเสวย และห้องนั่งเล่น ซึ่งอยู่ตรงกับแนวแกนถนนทางเข้า มีการเน้นด้วยรูปด้านแบบสมมาตร และมีบันไดทางขึ้นซ้ายขวาเสมอกัน ส่วนที่ 2 คือส่วนห้องบรรทม และที่ประทับพักผ่อนทางทิศตะวันออก มีจุดเด่นคือหอคอยรูปทรงแปดเหลี่ยมที่สูงถึง 4 ชั้น ส่วนสุดท้ายคือส่วนบริการทางทิศตะวันตกและด้านหลังของตัวตำหนัก ซึ่งมีรูปแบบที่เรียบง่ายกว่า ประดับด้วยหอคอยแปดเหลี่ยมขนาดย่อม

ตัวตำหนักวังใหม่นี้ โครงสร้างอาคารเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ประกอบกับโครงสร้างไม้ มีการใช้เสาหินแกรนิตในส่วนที่รับน้ำหนักมาก และเสาหินอ่อนในส่วนที่ต้องการให้ประณีตเป็นพิเศษ พื้นอาคารมีทั้งพื้นไม้ พื้นปูหินอ่อน และพื้นปูกระเบื้องลายฝ้าเพดานไม้ ช่องเปิด 2 ชั้นล่าง เป็นซุ้มยอด ช่องเปิดชั้น 3 และชั้น 4 เป็นซุ้มยอดโค้งแหลม (pointed arch) บานประตูหน้าต่าง เป็นบานไม้ลูกฟักไม้ บางบานด้านล่างทำลูกฟักเกล็ดไม้ ผนังอาคาร ชั้นล่างฉาบปูนเซาะร่องให้ดูคล้ายผนังหินก่อ ชั้นบนบางส่วนก่ออิฐโชว์แนว บางส่วนฉาบปูนเรียบและทาสีเป็นแถบอ่อนแก่สลับกันทางนอน ยอดผนังรอบอาคารทำเป็นใบเสมาแบนอย่างฝรั่ง อันทำให้อาคารดูคล้ายป้อมปราการในยุคกลาง

ความแปลกใหม่ทั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมและตำแหน่งที่ตั้งของ วังใหม่ที่ปทุมวัน ย่อมสะท้อนถึงพระสถานะอันพิเศษของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงกำหนดไว้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว ว่าจะโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่นี้เป็นองค์รัชทายาท สอดคล้องกับคติธรรมเนียม Crown Prince อย่างตะวันตก และภายใน 2 ปีหลังจากที่ วังใหม่ที่ปทุมวัน แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสีย เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2428 และทรงสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 [16]

(ซ้าย) วัดนิเวศธรรมประวัติ, (ขวา) หอพระ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน

โรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ

อย่างไรก็ดีเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงเจริญพระชันษาขึ้นแล้ว ก็ยังคงเสด็จประทับอยู่กับสมเด็จพระบรมชนกนาถที่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังสืบมา ต่อมาภายหลังปรากฏว่ารัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระตำหนักพระราชทานที่บริเวณโรงแสงเก่า คือบริเวณพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในปัจจุบัน [17] หากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นเสด็จทิวงคตเสียในเดือนมกราคม พ.ศ. 2437 เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา จึงมิได้เคยเสด็จประทับที่ วังใหม่ที่ปทุมวัน หรือที่พระตำหนักโรงแสงเก่าเลย [18]

ต่อมาใน พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 จึงมีพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนการแผนที่ของกรมแผนที่ย้ายมาตั้งที่วังใหม่ [19] เนื่องจากเป็นอาคารที่มิได้มีการใช้งาน และตั้งอยู่ในทุ่งปทุมวัน อันเป็นที่หลวงซึ่งกว้างใหญ่ เหมาะแก่การฝึกหัดทำแผนที่ [20] ด้านเหนือจดถนนสระประทุม (ถนนพระราม 1) ด้านใต้จดถนนตรง (ถนนพระราม 4) ด้านตะวันออกจดถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) และด้านตะวันตกจดคลองสวนหลวง [21] คิดเป็นเนื้อที่ถึง 1,277 ไร่ 1 งาน 1 ตารางวา [22]

วังใหม่ที่ปทุมวัน โรงเรียนแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ
โรงเรียนแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ

ใน พ.ศ. 2442 กรมแผนที่และโรงเรียนการแผนที่ถูกโอนไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ และต่อมาก็มีการตั้งโรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการขึ้น สอนการทำแผนที่ การทดน้ำ และการกสิกรรม เพื่อผลิตบุคลากรสำหรับกรมแผนที่ กรมคลอง และกรมเพาะปลูก [23] โดยกระทรวงเกษตราธิการเช่าที่ตำบลปทุมวันทั้งหมดจากกรมพระคลังข้างที่ เป็นค่าเช่าปีละ 4,800 บาท [24] เพื่อตั้งโรงเรียนดังกล่าว ขยายจากโรงเรียนการทำแผนที่เดิม

สันนิษฐานว่าในระยะนี้คงจะมีการสร้างอาคารบริวารเพิ่มเติมรอบๆ ตัวตำหนักวังใหม่ และมีการทดลองทางการเกษตรและชลประทานในพื้นที่ทางด้านใต้และด้านตะวันออกของตัววัง อันทำให้ทุ่งปทุมวันมีแนวคูคลองและถนนเป็นตาตารางขนาดใหญ่ แตกต่างอย่างมากจากรูปแบบของแนวคลองธรรมชาติและท้องร่องสวนของพื้นที่โดยรอบ [25]

นับได้ว่าพื้นที่บริเวณวังใหม่และทุ่งปทุมวันในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนประกอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเทคนิควิทยา (technical education) ของสยาม การศึกษาศาสตร์อย่างใหม่ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งวิชากำลังของน้ำ (Hydrotechnical Engineering) วิชาการก่อสร้าง (Building Construction) หรือวิชาพฤกษศาสตร์ (Botany) [26] จึงมีจุดเริ่มต้นในสยาม ณ วังใหม่นี้เอง

โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2453 หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษ ก็ทรงสานต่อพระราชปณิธานด้านการอุดมศึกษาของสมเด็จพระบรมชนกนาถทันที โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชทานเงินที่คงเหลือจากการสร้างพระบรมรูปปิยมหาราชานุสาวรีย์ เป็นทุนสำหรับสร้างโรงเรียนในขั้นแรก [27] และพระราชทานที่ตำบลปทุมวัน รวมทั้งวังใหม่ อันอยู่ในการดูแลของพระคลังข้างที่ ให้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนดังกล่าวได้สืบไป โดยให้พระคลังข้างที่เก็บค่าเช่าปีละ 4,800 บาท เท่ากับเมื่อให้โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการเช่า [28]

ทั้งนี้มีหลักฐานว่าการเลือกที่ปทุมวันเป็นที่ตั้งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 มาแต่เดิมแล้ว ดังความที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็ก กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ความว่า :

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ล่วงแล้วมา ได้เสด็จที่สามัคยาจารย์สโมสรสถานเมื่อเร็วๆ ก่อนเสด็จสวรรคตนั้น ได้ทอดพระเนตร์สถานที่ จึงมีพระราชกระแสว่า ที่บริเวณวัดราชบุรณะนั้นไม่กว้างใหญ่เท่ากับที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย ไม่ใหญ่พอจะเปนมหาวิทยาลัยในข้างหน้าได้ จำจะต้องเปนโรงเรียนมัธยมอยู่อย่างนั้นเอง และพระราชทานพระราชกระแสว่า ที่จะคิดให้เปนมหาวิทยาลัยนั้นต้องไปจับที่ประทุมวัน เพราะพื้นที่กว้างใหญ่มีทางที่จะเปิดให้กว้างขวางสำหรับการข้างหน้าได้ และที่ไผ่สิงห์โตก็มีเปนทุนอยู่แล้ว โปรดเกล้าฯ ว่าจะคิดอย่างไรก็ให้คิดเสีย” [29]

แผนที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

ต่อมาใน พ.ศ. 2456 ทางสภาจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้มอบหมายให้พระยาศรีวรวงษ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จัดทำผังแม่บทสำหรับที่ดินทุ่งปทุมวันที่ได้รับพระราชทานทั้งผืน พระยาศรีวรวงษ์ได้เสนอให้พื้นที่ด้านตะวันตกของถนนพญาไท อันรวมถึงพื้นที่วังใหม่ด้วยนั้น เป็นพื้นที่ศึกษาและทดลองทางการกสิกรรม พฤกษศาสตร์ และสัตววิทยาสำหรับโรงเรียน ในขณะที่พื้นที่ทางด้านตะวันออกนั้นกำหนดให้เป็นส่วนอาคารเรียนและตึกบัญชาการ โดยให้ด้านถนนสนามม้าเป็นด้านหน้าของโรงเรียน ซึ่งจะยกขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อไป ตอบรับกับการขยายตัวของเมืองในแถบนี้ ได้แก่ บริเวณสวนลุมพินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนราชดำริ และถนนวิทยุ เป็นต้น [30] ส่งผลให้พื้นที่ฟากตะวันตกของถนนพญาไทกลายเป็นด้านข้างของมหาวิทยาลัย โดยบริเวณวังใหม่นั้นต่อมาก็ปรากฏว่ากลายเป็นพื้นที่พักอาศัย มีการสร้างบ้านพักผู้บัญชาการ คณาจารย์ ตลอดจนหอพักนิสิตสืบต่อมา [31]

ใน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเรียนต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อแรกสถาปนาคงอยู่ทางฟากตะวันออกของถนนพญาไทเป็นส่วนมาก ตามผังแม่บทที่พระยาศรีวรวงษ์ได้วางไว้ และวังใหม่ก็คงลดความสำคัญลงในฐานะอาคารเรียน แม้จะปรากฏว่ายังคงเป็นตึกเรียนของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์สืบต่อมาจนอย่างน้อย พ.ศ. 2471 แต่อาคารในบริเวณวังโดยมากถูกใช้เป็นหอพักนิสิตตั้งแต่ราว พ.ศ. 2458 แล้ว [32]

สนามศุภชลาศัยเมื่อแรกสร้าง

สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ

ใน พ.ศ. 2477 สองปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้เป็นสมาชิกคนสำคัญในคณะราษฎร ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินที่ตำบลวังใหม่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสนามกรีฑาสถานและโรงเรียนพลศึกษากลางขึ้นที่บริเวณวังใหม่ การก่อสร้างสนามกรีฑาสถานเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 และเปิดใช้ได้บางส่วนใน พ.ศ. 2481 [33] การก่อสร้างคงดำเนินต่อมาอีก 3 ปีจนเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2485 สนามกรีฑาสถานได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงศุภชลาศัยสืบไป

วังใหม่อันเคยเป็นสัญลักษณ์ของสยามใหม่ สถาปัตยกรรมสำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จุดเริ่มต้นของการศึกษาเทคนิควิทยาอย่างตะวันตก หรือปฐมบททางสถาปัตยกรรมของสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของสยาม ปัจจุบันจึงเหลือเพียงความทรงจำอันเลือนราง ในชื่อตำบลวังใหม่ เขตปทุมวัน และในชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมหินอ่อนจำนวนหนึ่ง ในบริเวณสนามศุภชลาศัยเท่านั้น

ฐานเสาหินอ่อน ปัจจุบันถูกรวบรวมไว้ที่หน้าอาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (อาคารโรงเรียนพลศึกษากลางเดิม)
วังใหม่ที่ปทุมวัน
วังใหม่ที่ปทุมวัน มองจากทิศเหนือ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ไขแสง ศุขะวัฒนะ. การศึกษาการตกแต่งพระราชอุทยานและสวนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว .. 2394-2411. (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535), หน้า 38.

[2] ...แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (.. 2325-2525). (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525), หน้า 299.

[3] ...แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534), หน้า 146-148.

[4] จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 5 ภาค 9. (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2478), หน้า 29. พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อ พ.. 2408 เมื่อสิ้นพระชนม์ใน พ.. 2478 ทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 6.

[6] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2547), หน้า 98.

[7] เจ้าคุณนุ่ม (2359-2419) รับราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกกันทั่วไปว่า เจ้าคุณตำหนักเดิม ส่วนเจ้าคุณเป้า (2366-2435) เป็นน้องสาวของเจ้าคุณนุ่ม เป็นภรรยาของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ได้เป็นเจ้าคุณในรัชกาลที่ 4 และว่าการโรงไหมในวังจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.. 2435. ดู ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516), หน้า 105.

[8] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. หน้า 102-103. และดู จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 5 ภาค 9, หน้า 60.

[9] จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 5 ภาค 9, หน้า 36.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 60.

[11]ราชกิจจานุเบกษา กรุงเทพมหานครฉบับพิเศษ ออกเมื่อกรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี (.. 100 .. 1243 .. 2424). (กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์), เล่มที่ 10 (14 พฤศจิกายน พ.. 2424.)

[12] จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 5 ภาค 12. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2479), หน้า 113.

[13] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, .5 นก.36/59 เรื่องจัดเตรียมของและจัดวังใหม่รับเจ้าฝรั่ง

[14] ศรัณย์ ทองปาน. “นายแกรซีกับสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (เมษายนมิถุนายน 2541), หน้า 13-15.

[15] “Death of Mr.Grassi,” The Bangkok Times. (September 26, 1904.)

[16] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516), หน้า 108.

[17] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. หน้า 104.

[18] สำหรับการสร้างวังของพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 องค์อื่นๆ นั้น ปรากฏว่าในราว พ.. 2430 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้จัดซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดราชบูรณะ เพื่อพระราชทานพระราชโอรสบางพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นต้น แต่ก็มิได้มีการสร้างวังขึ้นจริง จนในราว พ.. 2440 เมื่อพระราชโอรสจำนวนมากทรงเจริญพระชันษาพอที่จะทรงมีวังของแต่ละพระองค์เอง และเสด็จกลับมาจากการศึกษาต่อที่ต่างประเทศแล้ว จึงปรากฏว่ามีการสร้างวังของพระราชโอรสทางทิศเหนือของพระนคร ตามแนวคลองผดุงกรุงเกษม และบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแนวถนนสามเสน ซึ่งตอบรับกับการสร้างพระราชวังดุสิต ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตั้งแต่ พ.. 2440 ไปจนสิ้นรัชกาล

[19] “Ministry of Agriculture. Opening of New College,” in The Bangkok Times. (November 28, 1908.)

[20] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.5 .5/5 เรื่องโรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ

[21] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 .4/30 เรื่องโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[22] เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี. “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,” ใน ล้อมรั้ว. ปีที่ 1 เล่มที่ 1 หน้า 68.

[23] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.5 .5/5 เรื่องโรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ

[24] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 .4/30 เรื่องโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[25] แบบแผนของคูคันดินและแนวถนนเมื่อครั้งนั้น สันนิษฐานว่ากลายมาเป็นโครงร่างของผังถนนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน. ดู บัณฑิต จุลาสัย. “การออกแบบและวางผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.. 2453-2475,” ใน สาระศาสตร์สถาปัตย์. ฉบับ 2 (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 367.

[26] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.5 .5/5 เรื่องโรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ

[27] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 70 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530), หน้า 11.

[28] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459-2509. หน้า 12.

[29] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 .4/30 เรื่องโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

[30] บัณฑิต จุลาสัย. “การออกแบบและวางผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.. 2453-2475,” ใน สาระศาสตร์สถาปัตย์. ฉบับ 2 (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 366-367.

[31] บัณฑิต จุลาสัย. “การออกแบบและวางผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.. 2453-2475,” หน้า 368.

[32] เจริญ ธรรมพานิช. “วิทยาศาสตร์ในอดีต (.. 2471-2478),” ใน 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : รำลึกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 31. และดู คลุ้ม วัชโรบล. “นิสิตใหม่ปี พ.. 2468,” เรื่องเดียวกัน, หน้า 23-25.

[33] ทวี วัดงาม. เมื่อเริ่มมีสิ่งนี้ในเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : เม็ดทราย, 2537), หน้า 40-41.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2560