สถานีรถไฟธนบุรี มีประวัติศาสตร์สงครามโลก

รถไฟสายใต้และตะวันตก เป็นพาหนะขนส่งสินค้าและผู้คน เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

สถานีรถไฟธนบุรีนั้นเป็นชื่อจริง แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่าสถานีรถไฟบางกอกน้อย เพราะอยู่ติดกับคลองบางกอกน้อย เดิมทีพื้นที่ก่อนจะสร้างสถานีรถไฟนี้เป็นของชาวมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาครั้งกรุงแตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริในการสร้างสถานีรถไฟสายใต้ จึงพระราชทานที่ดินฝั่งตรงข้ามคลองบางกอกน้อยให้กับชุมชนมุสลิมแทนที่เดิม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิด “สถานีรถไฟธนบุรี” ในวันที่ 19 มิถุนายน 2446 เปิด เดินรถครั้งแรก 1 เมษายน 2446 เป็นเส้นทางที่สามารถเดินทางลงใต้ก็ได้หรือไปทางตะวันตกก็ได้

การเดินรถไฟจากสถานีธนบุรีสายแรกไปสิ้นสุดที่สถานีเพชรบุรี เป็นระยะทาง 150 กิโลเมตร ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่จะเดินทางออกจากเมืองหลวงและคนที่เข้ามาในเมืองหลวง โดยเฉพาะคนภาคใต้ โดยอาศัยเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เพราะตอนนั้นยังไม่มีสะพานข้าม

ต่อมาเมื่อสร้างสะพานพระราม 6 ในปี พ.ศ. 2468 เสร็จ ระบบรถไฟทั้งประเทศก็เชื่อมต่อกัน แต่สถานีรถไฟธนบุรียังคงเป็นที่นิยมเช่นเดิม และมีการค้าบริเวณใกล้เคียงมากมาย

ในปี 2475 มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า และตัดถนนบนฝั่งธนบุรี เช่น ถนนอิสรภาพ ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ฯลฯ การสัญจรทางบกของฝั่งธนบุรีจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ทางน้ำก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง จนปัจจุบันก็ยังเหลือการใช้สอยอยู่บ้างเช่นเรือหางยาวรับจ้างพาชาวบ้านในคลองออกมาทำงาน และเรือรับจ้างพานักท่องเที่ยวชมคลองบางกอกน้อย

จากนั้นอีก 10 ปี ในปี พ.ศ. 2485 ประเทศไทยต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมฝ่ายอักษะด้วยความจำเป็น ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นแหล่งบัญชาการสงครามในภูมิภาคนี้เพื่อโจมตีพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยอาศัยรถไฟเป็นทางลำเลียงหลักของกองทัพ สถานีธนบุรีจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเป็นเป้าหมายโจมตีของฝ่ายพันธมิตร ครั้นวันที่ 5 มีนาคม 2488 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลง สถานีธนบุรีถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินบี 24 และบี 29 ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

จนในที่สุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2485 เวลา 12.30 น. สถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกระเบิดอีกครั้งจนพังย่อยยับ และเป็นครั้งสุดท้ายที่มีเสียงหวอเตือนระเบิดในกรุงเทพฯ

เหตุการณ์ครั้งนี้ “ทมยันตี” ยกบรรยากาศมาไว้ในนิยายเรื่องคู่กรรม โกโบริเป็นนายช่างไปทำงานอยู่ที่นั่น อังศุมาลินเมื่อทราบว่ามีการทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟและโกโบริอยู่ที่นั่นจึงรีบมาหา ในที่สุดก็พบโกโบรินอนอยู่ในกองไม้ที่กระเด็นมาทับเพราะแรงระเบิด สุดท้ายความตายก็พรากดวงวิญญาณโกโบริไป จบฉากความรักข้ามเชื้อชาติครั้งนี้อย่างแสนเศร้ากินใจ ในคู่กรรมนวนิยายเรื่องเยี่ยมของทมยันตี ที่อ่านครั้งใดก็เรียกน้ำตาได้ทุกครั้ง ผู้แต่งยังใช้ฉากบ้านของอังศุมาลินอยู่ในคลองบางกอกน้อย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีรถไฟบางกอกน้อย และฉากท้องร่องสวนที่นางเอกผู้ทระนงของเราปีนต้นไม้เล่น ดังคำบรรยายตอนหนึ่งว่า

“…อังศุมาลินค่อยๆ เหนี่ยวตัวขึ้นไป พอขึ้นไปนั่งบนคบสูงสุดได้จึงค่อยสบายใจขึ้น พลางตัดยอดสะเดาทิ้งลงไปเบื้องล่างอย่างใจเย็น ชะเง้อคออีกนิดก็มองเห็นหลังคาสถานีบางกอกน้อยรำไร เสียงหวูดรถไฟดังแหลมก้องลงมา”

เพราะฉะนั้นสถานีรถไฟที่เราเห็นกันทุกวันนี้จึงไม่ใช่สถานีเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากสงครามสงบแล้ว สถานีรถไฟจึงได้รับการซ่อมแซมใหม่เหมือนปกติ หอนาฬิกาที่สูงเด่นและยังเดินบอกเวลาได้ ถูกสร้างขึ้นแทนอาคารบัญชาการที่ถูกระเบิดทำลาย อาคารสถานีแห่งใหม่ออกแบบโดย หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ สถาปนิกเอก หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2493

ด้านหน้าของสถานีรถไฟบางกอกน้อย ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านซ้ายติดกับเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเก่า คือคลองบางกอกน้อย ทะลุคลองบางกอกใหญ่

เส้นทางไปสถานีรถไฟบางกอกน้อย มีทั้งทางรถและทางเรือ

ทางเรือ มีเรือด่วนสายธรรมดาแวะทุกท่ามาจอดส่งผู้โดยสารทั้งวัน ค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง และมีเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์-รถไฟ เที่ยวละ 2 บาท เปิดบริการตั้งแต่ตี 4 จนถึง 3 ทุ่ม

ทางรถ มีเส้นทางถนนอรุณอมรินทร์ จอดรถได้ที่วัดอมรินทรารามหรือหน้าตลาดสถานีรถไฟบางกอกน้อย ค่าจอดรถชั่วโมงละ ๒๐ บาท และบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี

เมื่อมาถึงแล้วเดินมาด้านหน้าอาคารสถานีรถไฟธนบุรี จะเห็นหอนาฬิกาและตัวอาคาร มีป้ายเขียนว่า “สถานีรถไฟธนบุรี” บอกปีที่สร้างไว้ว่า ปี พ.ศ. 2493 มีป้ายคำอธิบายความเป็นมาด้านหน้าอาคาร

จากนั้นเดินเข้าไปจะพบบรรยากาศคลาสสิคคือความเก่าแก่ของอาคาร แต่ก็ยังดูดีและสะอาดสะอ้าน มีแบบจำลองอาคารและบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย ชานชาลาซึ่งยังใช้งานอยู่ และรอบนอกซึ่งเมื่อก่อนจะมีตลาดขายของสด แต่ปัจจุบันย้ายไปที่ตลาดที่สร้างใหม่แล้ว

มีขบวนรถไฟให้บริการทั้งสายตะวันตกถึงสถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี และสายใต้ไกลสุดถึงสถานีหลังสวน

ถ้าใครสนใจจะเดินทางด้วยรถไฟก็สอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทางรถไฟ หมายเลข 02220 4334 หรือสายด่วน 1690 หรือจะเดินทางไปติดต่อเองก็ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวกับรถไฟสำหรับผู้ที่ไม่มีรถหรือมีแต่ขี้เกียจขับ กลัวหลงหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งแบบเช้าไป เย็นกลับ และค้างคืน ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวน้ำตกไทรโยค, ล่องแพเมืองกาญจนบุรี แวะดูพิพิธภัณฑ์สงคราม สุสานดอนรัก และวัดถ้ำเขาปูน หรือเที่ยวหาดชะอำ สนใจลองโทรสอบถามที่เบอร์ 02220 4567 ต่อ 5217, 5203 สายด่วน 1690 และที่ www.srt.or.th

ตรงหัวโค้งปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งสถานีรถไฟธนบุรี จะมองเห็นสถานที่ต่างๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะพานพระปิ่นเกล้าฯ และเหลียวไปทางซ้ายจะเห็นคลองบางกอกน้อย ยิ่งมายืนตอนช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็นเวลาพระอาทิตย์ใกล้จะตก ก็จะเห็นแสงไฟจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ สะท้อนกับน้ำเป็นเงาเพิ่มความสวยงามขึ้นไปอีก

ปัจจุบันด้านหน้าของสถานีรถไฟธนบุรีปรับปรุงเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มีบ่อน้ำพุ สนามหญ้า และต้นไม้ร่มรื่น แต่ไม่ทราบว่าทำไมถึงมีรั้วลวดหนามมากั้นทั่วไปหมด

เดินเลียบมาทางด้านซ้ายมือเรื่อยๆ จะมีฟุตบาทนำทางมาสู่อาคารศูนย์บริการข้อมูลเอกสารการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่เปิดบริการ แต่ได้ทำอาคารสถานที่ไว้สวยงามน่าชมแล้วพร้อมทั้งมีท่าน้ำจอดเรือด้วย

เดินต่อไปเกือบสุดใต้สะพานอรุณอมรินทร์ มองไปฝั่งตรงข้ามจะเห็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี มีเรือโขนต่างๆ เช่น เรือสุพรรณหงส์ เรืออสุรวายุภักษ์ ถ้าจะข้ามไปดูก็สามารถว่าจ้างเรือข้ามฟากไปได้

ปัจจุบันเรือจ้างข้ามฟากบริเวณปากคลองบางกอกน้อยเหลืออยู่ลำเดียว ค่าโดยสารเที่ยวละ 3 บาท ข้ามไปมาระหว่างท่าน้ำหน้าวัดอมรินทราราม ไปท่าเรือพระราชพิธีซึ่งสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งรถข้ามไปมา หรือจะไปท่าอื่นๆ ในคลองก็แล้วแต่จะให้ 5-10 บาท จึงลองสอบถามดูว่าถ้าจะจ้างไปส่งที่วัดชีปะขาว สำนักเรียนของท่านสุนทรภู่จะได้ไหม ก็ตกลงกันว่าได้ แต่ต้องรอให้ 10 โมงเช้าเสียก่อนถึงจะเลิกรับส่งผู้โดยสารข้ามฟาก


หมายเหตุ: ข้อมูลในบทความเป็นข้อมูลจากช่วง พ.ศ. 2546 โปรดตรวจสอบรายละเอียดและความเปลี่ยนแปลงกับต้นทางอีกครั้ง

ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความ “บ้านเกิดสุนทรภู่ อยู่บริเวณวังหลังบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน 2546