รำลึกวังหลัง วังของ “หลาน” รัชกาลที่ 1 และร่องรอยที่เหลือจากอดีตใน “ตรอกวังหลัง”

ภาพถ่ายมุมสูงของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเดิมอยู่ในเขตที่ตั้งของวังหลัง (ภาพจากมติชนทีวี)

เมื่อปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 แล้ว รัชกาลที่ 1 โปรดให้สถาปนา “ข้าหลวงเดิม” ที่มีความดีความชอบ

ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมา (สมัยพระเจ้าตาก) ซึ่งเป็น “ลูก” ของ “พี่สาว” คือพระพี่นางองค์โต ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หรือกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข คือ “วังหลัง” แล้วพระราชทานที่ดินบริเวณสวนมังคุด ปากคลองบางกอกน้อย (ย่านศิริราชและสถานีรถไฟธนบุรีทุกวันนี้) ให้เป็นที่ประทับ เรียกว่าวังหลัง

เมื่อสิ้นเจ้าของวังหลัง หลังจากนั้นไม่ปรากฏมีเจ้านายองค์ใดดำรงตำแหน่งนี้อีก วังหลังจึงค่อยๆ เสื่อมสลายรกร้าง บางส่วนที่ยังมีเชื้อพระวงศ์ตั้งบ้านเรือนก็ถูกเวนคืนเป็นโรงพยาบาลศิริราชบ้าง และเป็นถนนอรุณอมรินทร์บ้าง (วชิราวรรณ ตัณฑะหงษ์ บุนนาค, เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545)

วังหลังปัจจุบันเหลือร่องรอยอดีตคือชื่อตรอกวังหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งหอพัก และร้านค้า ทุกวันพุธจะมีตลาดนัดขายของ ทั้งอาหารและเสื้อผ้าราคาถูก ใครชอบช็อปปิ้งก็เชิญไปเลือกซื้อได้ตามใจชอบ

ตลาดนัดซอยวังหลัง ตรอกเล็กๆ แต่มีอาหารและข้าวของให้จับจ่ายเพียบ

ถ้าเดินเข้าไปในโรงพยาบาลศิริราช ลองไปดูด้านทางออกติดกับท่าน้ำ เข้ามาสัก 50 เมตร จะเห็นป้ายถนนบวรสถานพิมุขหรือวังหลังนั่นเอง เข้ามาในโรงพยาบาลแล้วถ้าไม่เจ็บป่วยอะไรลองแวะดูพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ของศิริราชด้วย มีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เรื่องกายวิภาค เช่นพิพิธภัณฑ์คองดอน พิพิธภัณฑ์ซีอุยหรือพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ และอีกหลายแห่ง พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมาก แต่ไม่รู้ว่าทำไมคนไทยไม่ชอบของใกล้ตัวก็ไม่รู้

 


ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความ “บ้านเกิดสุนทรภู่ อยู่บริเวณวังหลัง บางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน 2546

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560