ดูมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ทาบกับ “เศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด”

(ซ้าย) ปรีดี พนมยงค์, (ขวา) ชาร์ลส์ จิ๊ด

ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ. 2475 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน ศกนั้น, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) บุคคลสำคัญของคณะราษฎร ผู้เป็นเจ้าของร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย มีผลทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง และเริ่มการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น, ได้รับมอบความไว้วางใจจากคณะราษฎรให้จัดทำนโยบายที่แสดงเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกว่า “หลัก 6 ประการ” ซึ่งข้อหนึ่งระบุว่า “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

ต่อมาภายหลังที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ศกเดียวกันแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ซึ่งเมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวขึ้นมาโดยเรียกว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง”, ก็ได้เกิดความขัดแย้งกันในคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 1เมษายน 2476 โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกส่งออกไปประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 12 ของเดือนเดียวกัน

ในเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” อันเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการทางการเมืองครั้งแรกในสมัยรัฐธรรมนูญนั้น ได้ปรากฏชื่อของ “ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด” ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ้างถึงในฐานะผู้เรียบเรียงตำราเศรษฐศาสตร์ เมื่ออธิบายเรื่อง “ความต้องการของมนุษย์” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ความต้องการของมนุษย์ในปัจจัยที่ดำรงชีวิตอาจมีแตกต่างกัน และยิ่งมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันกว้างขวางขึ้นและเจริญขึ้นแล้ว ความต้องการก็ยิ่งมีมากขึ้น. ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด กล่าวไว้ว่า ที่เรียกกันว่าเจริญนั้นก็หมายความถึงว่าความต้องการของมนุษย์ได้มีมากขึ้น (คำสอน เศรษฐวิทยา เล่ม 1 หน้า 49) เช่นคนป่าต้องการเครื่องนุ่งห่มแต่พอปิดบังร่างกายบางส่วน ครั้นคนจำพวกนั้นเจริญขึ้น ก็ต้องการเครื่องนุ่งห่มปิดบังร่างกายมากขึ้น ดั่งนี้เป็นต้[1]

จากนั้นชื่อของชาร์ลส์ จิ๊ด ก็หายไปพร้อมกับผู้เป็นเจ้าของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” จนกระทั่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกประเภทที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีมลทินจริงหรือไม่, ชื่อของชาร์ลส์ จิ๊ด จึงได้กลับคืนมาอีกวาระหนึ่งในระหว่างการประชุมของคณะกรรมาธิการดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2476 (นับอย่างสมัยนี้เป็น 2477)

ในการประชุมวันนั้น คณะกรรมาธิการได้ถามหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเกี่ยวกับเรื่องการบังคับคนให้ทำงานที่ปรากฏอยู่ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ ได้แสดงความเห็นว่าในเมืองไทยมีคนที่ไม่ยอมทำมาหากินอะไร คอยพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ซึ่งหากจะปล่อยเอาไว้ก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้าน ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่เศรษฐกิจของชาติ ดังนั้นจึง “ไม่มีวิธีใดดีกว่ารัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน”.[2]

ในการตอบคณะกรรมาธิการ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อ้างศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด, โดยกล่าวว่า “ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้แสดงไว้ว่า การบังคับให้ทำงานนั้นเป็นระเบียบการของโซชลิสต์หลายอย่าง ถ้าจะพูดโดยเคร่งครัดแล้ว การเกณฑ์ทหารก็เป็นการบังคับให้ทำงานเหมือนกัน ส่วนการวางแผนการ (เศรษฐกิจ-ผู้เขียน) นั้น ก็มีคณะอื่นๆ นอกจากคณะคอมมิวนิสต์ใช้วิธีการเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน”.[3]

นอกจากนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ยังได้กล่าวต่อไปว่า “ตามที่ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้แสดงไว้ก็ปรากฏว่าเป็นการเกี่ยวกับวิภัชกรรม (การแบ่งสรรโภคทรัพย์) (คือวิภาคกรรม-ผู้เขียน) มากกว่าประดิษฐกรรม (การบังเกิดโภคทรัพย์)”.[4]

การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อ้างถึงศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด ดังกล่าว เป็นข้อสังเกตว่าหลวงประดิษฐ์ฯ จะต้องได้ศึกษาตำราเศรษฐศาสตร์ของศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้นั้นอย่างแตกฉาน ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่าง พ.ศ. 2463-2469, ซึ่งเมื่อได้เห็นหลักสูตรวิชากฎหมายสำหรับการศึกษาเพื่อรับ “ปริญญารัฐ” หรือ “ดีกรีของแผ่นดิน” ในครั้งกระนั้นแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าข้อสังเกตดังกล่าวนี้เป็นความจริง.[5]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ เนติบัณฑิตสยาม ได้ศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง ซึ่งต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือ “เศรษฐวิทยา” ทั้ง 2 ปีเพื่อรับดีกรี “บาเชอลิเอร์ ออง ดรัว” อีกทั้งต้องสอบไล่วิชาการคลังในชั้นปีที่ 3 ก่อนที่จะรับดีกรี “ลิซองสิเอ ออง ดรัว”. ถึงแม้ว่าในที่สุดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะสอบไล่ได้ “ปริญญารัฐ” เป็น “ด็อกเตอร์ ออง ดรัว” ฝ่ายนิติศาสตร์ แต่ก็ได้สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงในทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย.[6]

นอกจากจะได้ศึกษาตำราเศรษฐศาสตร์ของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด แล้ว ในขณะที่ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงปารีส, หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ยังได้เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์เดสชองป์ส์ (Deschamps) อีกด้วย.

ศาสตราจารย์เดสชองป์ส์สอนวิชาประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ จะได้ความรู้ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจากอาจารย์ท่านนี้พอสมควร. ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวว่าบุคคลมักจะมีความลำเอียงในการยอมรับและไม่ยอมรับลัทธิเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งศาสตราจารย์เดสชองป์ส์ได้อธิบายว่าความลำเอียงดังกล่าวมีที่มา 3 ประการ คือ ประการแรก มีความลำเอียงเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ, ประการที่ 2 มีความลำเอียงเพราะได้ปลงใจเชื่อทางหนึ่งทางใดโดยไม่พยายามศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริง และประการที่ 3 มีความลำเอียงเพราะมีประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม.[7]

ถึงแม้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ จะมิได้กล่าวถึงบุคคลต่างๆ ที่ให้ความรู้และข้อคิดในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ในสมัยที่เป็นนักศึกษากฎหมายในฝรั่งเศส นอกเหนือไปจากที่ได้กล่าวถึงแล้วก็ตาม, แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่หลวงประดิษฐ์ฯ จะมีโอกาสได้ศึกษาตำราของอาจารย์ท่านอื่นๆ ด้วยไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างจะชัดเจนว่าเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไม่ว่าจะในคำบรรยายวิชากฎหมายปกครองที่ใช้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม หรือในเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”, หรือแม้กระทั่งในการให้สัมภาษณ์แก่นักวิชาการรุ่นใหม่เมื่อก่อนถึงอสัญกรรม

จริงอยู่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีมโนทัศน์ตลอดจนจุดยืนซึ่งเป็นของตนเอง และสะท้อนประสบการณ์จากชีวิตสมัยเป็นเด็ก อีกทั้งการศึกษาสถานภาพของสังคมไทยอยู่มาก, แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นการถ่ายทอดมโนทัศน์จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งในลักษณะที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ เช่นในกรณีของชาร์ลส์ จิ๊ด กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม.

ด้วยเหตุนี้จึงน่าสนใจที่ควรจะต้องพยายามทำความรู้จักกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้สักเล็กน้อย.

ชาร์ลส์ จิ๊ด (Charles Gide) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1847 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2390 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ชาร์สล์ จิ๊ด คงจะเขียนตำราเศรษฐศาสตร์หลายเล่ม และบทความที่ลงพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่างๆ ในฝรั่งเศส, แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ “Principes d” economie politiques” (หลักเศรษฐศาสตร์) ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) ก่อนหลวงประดิษฐ์ฯ เกิด 16 ปี

ตำราเล่มนี้ได้รับความนิยมสูงสุดในฝรั่งเศส เพราะแม้นจะครอบคลุมเนื้อหาสาระที่สำคัญๆ ในขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์เอาไว้โดยไม่ตกหล่น, แต่ก็เรียบเรียงด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย โดยผู้อ่านไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาก่อนเลย.

อย่างไรก็ตาม หากจะเรียกตำรา “หลักเศรษฐศาสตร์” ของชาร์ลส์ จิ๊ด ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ก็จะไม่ถูกต้อง เพราะผู้เรียบเรียงได้ลงไปในประเด็นต่างๆ ค่อนข้างจะลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่คมคายและน่าคิด.

ตำราเศรษฐศาสตร์ที่นักศึกษาชาวฝรั่งเศสใช้เป็นกุญแจไขเข้าไปสู่ความรู้ความเข้าใจใน “หลักเศรษฐศาสตร์” เล่มนี้ได้รับการพิมพ์แล้วพิมพ์อีกหลายสิบครั้งในช่วงเวลาประมาณครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1884 ซึ่งแน่นอนที่สุด จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสมควรในการพิมพ์ใหม่หลายๆ ครั้ง. สำหรับเล่มที่พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 23 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเอิร์นเนสต์ เอฟ. โรว์ (Ernest F. Row) ให้ชื่อหนังสือเป็นภาษาอังกฤษว่า “Principles of Political Economy” ในปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467).

ต่อมาใน พ.ศ. 2479 ตำราเล่มเดียวกันนี้ก็ได้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดยนาย สหัสส์ กาญจนพังคะ และให้ชื่อว่า “หลักเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด”, ซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้จักกันดี.[8]

นอกจากตำรา “หลักเศรษฐศาสตร์” เล่มดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด ยังได้เรียบเรียงตำราที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “Histoire des doctrines economiques depuis les Physiocrates jusqu” a nos jours” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1909 และอาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ”.

ตำราเล่มนี้มีศาสตราจารย์ริสต์ (C. Rist) ร่วมเรียบเรียงด้วย และเล่มที่พิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย อาร์. ริชาร์ดส์ (R. Richards) พิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1915 (พ.ศ. 2458). จากนั้นก็ได้พิมพ์ใหม่อีกหลายครั้งจนถึงครั้งที่ 7 ในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ภายหลังที่ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วถึง 15 ปี.

ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นปีที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ.

นอกจากนั้นก็ยังมีหนังสือที่ชาร์ลส์ จิ๊ด เรียบเรียงอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่โด่งดังเหมือนตำราทั้ง 2 เล่มที่กล่าวข้างต้น คือ “Communist and Cooperative Colonies” ซึ่งคงจะเป็นการเปรียบเทียบระบบคอมมิวนิสต์กับระบบสหกรณ์

ในตำรา “หลักเศรษฐศาสตร์” ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้กล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ใน 3 ลักษณะ คือเศรษฐศาสตร์พิสุทธิ์ (ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์-ผู้เขียน), เศรษฐศาสตร์สังคม (social economics) ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและองค์กรในสังคม ตลอดจนสถาบัน, นโยบายและมาตรการที่จะทำให้สังคมดีขึ้นและคนในสังคมมีความสุขยิ่งขึ้น, และเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ (applied economics) ซึ่งศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และแสวงหานโยบายและมาตรการในอันที่จะปรับปรุงให้มีรายได้และประสิทธิภาพสูงขึ้น.[9]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ให้ความเอาใจใส่ต่อเศรษฐศาสตร์สังคมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ โดยถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐในการบริหารประเทศ, ในขณะที่ได้ใช้ประโยชน์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในการวางเค้าโครงของการเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย.

ในข้อเขียนต่างๆ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับลัทธิเสรีนิยม จะสังเกตเห็นได้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับชาร์ลส์ จิ๊ด ผู้ซึ่งได้วิจารณ์ลัทธิดังกล่าวเอาไว้ว่าโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมิใช่เกิดจากปรากฏการณ์อันเป็นปกติวิสัย หากเป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น สงคราม หรือการแผ่อิทธิพลเข้ามาจากภายนอก เป็นต้น, ถึงแม้บางสิ่งจะเป็นไปโดยกฎธรรมชาติ แต่สังคมในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นจะต้องคงที่ตายตัวอยู่ตลอดไป เพราะกฎธรรมชาติคือกฎแห่งวิวัฒนาการ, และนอกจากนั้น กฎธรรมชาติก็ไม่จำเป็นจะต้องดีเสมอไป ซึ่งหากมีความไม่เหมาะสมก็จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง.[10]

ชาร์ลส์ จิ๊ด อธิบายสาระของลัทธิโซลิดาริสม์ (solidarism) เอาไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือมนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นจึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม.

อย่างไรก็ตาม โซลิดาริสม์ก็แตกต่างไปจากลัทธิสังคมนิยม คือมีความเคารพในกรรมสิทธิ์ของบุคคลและยอมรับให้มีมรดกตกทอดได้ ตลอดจนให้ความอิสรเสรีต่อบุคคลในการใช้จ่าย. นอกจากนั้นลัทธิโซลิดาริสม์ก็ยังยอมรับความไม่เสมอภาคในสังคม เป็นแต่ให้คนที่อ่อนแอและคนที่แข็งแรงรับผิดชอบการดำเนินชีวิตร่วมกัน โดยความสมัครใจภายใต้ระบบการประกันสังคม เพื่อความมั่นคงแห่งสังคม. มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากลัทธินี้ตามนัยแห่งคำอธิบายของชาร์ลส์ จิ๊ด ค่อนข้างมาก.[11]

ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสผู้นี้ได้แสดงความเฉียบแหลมและลึกซึ้งในการวิเคราะห์เรื่อง “ทรัพย์“. ชาร์ลส์ จิ๊ด กล่าวว่าที่ผู้คนสะสมทรัพย์เอาไว้มากมาย มิใช่เพื่อการบริโภค แต่เพราะ “ทรัพย์” ให้อำนาจแก่ผู้เป็นเจ้าของเหนือคนอื่นและเหนือบรรดาทรัพยากร, ดังจะเห็นว่าเงินก่อให้เกิดอิทธิพลทางการเมืองและทางสังคม และอำนาจเศรษฐกิจของเงินก็คืออำนาจที่ใช้บังคับประชาชนส่วนรวมของประเทศ. ชาร์ลส์ จิ๊ด เน้นว่า “ทรัพย์” มี 2 บทบาท คือบทบาทในการบำบัดความต้องการโดยตรง และบทบาทที่ให้อำนาจแก่ผู้เป็นเจ้าของ คนเราจะใช้ “ทรัพย์” เพื่อบำบัดความต้องการในรูปของรายได้ แต่ “ทรัพย์” ที่ให้อำนาจนั้นอยู่ในรูปของ “ทุน“.[12]

แนวความคิดของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด ดังกล่าวนี้ น่าจะมีอิทธิพลต่อมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มากก็น้อย.

ชาร์ลส์ จิ๊ด เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองเห็นพลังอำนาจของ “เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์” ในการเศรษฐกิจค่อนข้างจะชัดเจน โดยได้เน้นบทบาทของปัจจัยดังกล่าวเอาไว้มาก เช่น สามารถกำกับธรรมชาติให้อยู่ในความบงการของมนุษย์ได้, ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง และได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันในปริมาณมากและโดยใช้เวลาที่รวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็เห็นว่าในการเพาะปลูก เครื่องจักรถูกใช้เพียงช่วยให้กสิกรออกแรงน้อยลง (ในปัจจุบันเกษตรกรรมต้องอาศัยผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ-ผู้เขียน).[13]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็เป็นผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ต้น, ซึ่งการที่เป็นผู้ให้แนวความคิดก่อกำเนิด “ราชบัณฑิตยสถาน” ขึ้นเกือบจะโดยทันทีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมืองของราชบัณฑิตยสถานคนแรก) ก็อาจจะมาจากมโนทัศน์ว่าด้วยแรงงานทางสติปัญญา (intellectual labour) ของชาร์ลส์ จิ๊ด ก็เป็นได้.

ในเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หมวดที่ว่าด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ควรจะมีภายในประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีมโนทัศน์ที่สอดคล้องกับชาร์ลส์ จิ๊ด เป็นอย่างมาก ตามที่กล่าวว่า “จะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น ซึ่งในที่สุดประเทศไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยต่างประเทศ”.

ชาร์ลส์ จิ๊ด บอกว่าความชำนาญเฉพาะอย่างเป็นอันตราย เพราะจะเสียเปรียบต่างชาติ โดยประชาชาติที่ปรารถนาความก้าวหน้า, ความมั่งคั่งและความมั่นคงจะต้องสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ จึงจะรักษาเอกราชทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้. ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้อ้างถึงแนวความคิดของฟริดลิช ลิสต์ (Friedlich List) ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้กล่าวถึงเช่นกัน.[14]

ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด กล่าวไว้ว่าแม้นความไม่เสมอภาคทางสังคมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบุคคลมีข้อแตกต่างกัน แต่ก็มีผู้ให้ข้อคิดว่าบางทีความแตกต่างในฐานะอาจจะกระตุ้นให้ผู้คนมีความขยันหมั่นเพียรและบากบั่นมากขึ้น, กระนั้นสังคมก็ยังรับไม่ได้ เพราะในทางอื่นๆ เช่น ทางกฎหมาย, การศึกษา ฯลฯ ก็มีความเสมอภาคกันแล้ว เหลือแต่ในทางฐานะเศรษฐกิจเท่านั้นที่ยังแตกต่างกัน และความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในทางอื่นๆ ที่ตามมา เช่น อำนาจ, ปัญญา, สุขภาพ ฯลฯ

นอกจากนั้นชาร์ลส์ จิ๊ด ก็ยังย้ำว่าความยากจนทำให้คนอายุสั้น, ทำให้ประกอบอาชญากรรม และแม้กระทั่งเป็นสาเหตุสำคัญของอัตวินิบาตกรรม. ที่ชัดเจนที่สุดก็คือที่กล่าวว่าความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจมิได้เกิดจากธรรมชาติแต่ได้กลายเป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำขึ้น เช่น ทรัพย์สินจากมรดก เป็นต้น.[15]

คงจะปฏิเสธมิได้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับความคิดของชาร์ลส์ จิ๊ด เอาไว้พิจารณาใคร่ครวญตลอดชีวิต, ซึ่งรวมถึงความคิดในเรื่องระบบวิภาคกรรมรายได้ประชาชาติด้วย.

ท้ายที่สุดก็คงจะต้องตั้งเป็นข้อสังเกตว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับการถ่ายทอดมโนทัศน์ในเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์มาจากตำราของชาร์ลส์ จิ๊ด ค่อนข้างมาก และเมื่อผู้เป็นเจ้าของตำราเป็นผู้นิยมสหกรณ์ หลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีความคิดที่แน่วแน่ในเรื่องสหกรณ์ ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. 2526

ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้กล่าวถึงสหกรณ์ไว้ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ระบุว่าระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์สามารถดูแลการวิภาครายได้ให้เกิดความยุติธรรมยิ่งกว่าจะใช้เครื่องมือทางกฎหมาย, สหกรณ์ไม่เลิกล้างกรรมสิทธิ์เอกชน แต่จะทำให้ทุกคนอาจมีกรรมสิทธิ์ได้, สหกรณ์ไม่ทำลายเงินทุน แต่กลับถือว่าเงินทุนมีความสำคัญและจำเป็น เพียงแต่ใช้เงินทุนเป็นเครื่องมือมิใช่ให้เป็นนายหรือผู้บงการ ฯลฯ.

ชาร์ลส์ จิ๊ด ย้ำว่าความมุ่งหมายของสหกรณ์คือการล้มล้างผลกำไร และแม้สหกรณ์จะประกอบการมีกำไร ก็จะส่งคืนกำไรให้แก่สมาชิกตามที่มีส่วนร่วม นอกจากนั้นกำไรที่สหกรณ์พยายามล้มเลิกก็มิใช่กำไรที่นายจ้างแย่งมาจากผู้ใช้แรงงาน, แต่เป็นกำไรที่พ่อค้าเอามาจากผู้ซื้อ สหกรณ์สนองความต้องการของตนด้วยวิธีของตนเอง คือเป็นผู้ผลิตเอง, พ่อค้าเอง, นายธนาคารเอง, เจ้าหนี้เอง และผู้ใช้แรงงานเอง.[16]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนยันว่าสหกรณ์ในมโนทัศน์ของท่านคือ “สหกรณ์สังคมนิยม” มิใช่สหกรณ์ทุนนิยมที่ทำกันอยู่ และจะต้องเป็นสหกรณ์อเนกประสงค์. นอกจากนั้นก็ยังต้องการที่จะเปลี่ยนการปกครองท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นสหกรณ์ทั้งหมดด้วย. ในลักษณะเช่นนี้ก็ต้องกล่าวว่ามโนทัศน์ในเรื่องเศรษฐกิจสหกรณ์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปไกลกว่าศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ จิ๊ด.[17]

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าชาร์ลส์ จิ๊ด จะได้เรียบเรียงตำราเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในฝรั่งเศส, หรือแม้กระทั่งในโลกในสมัยนั้นเล่มหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงจำนวนครั้งที่มีการพิมพ์ออกสู่ตลาดที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนาน, แต่ก็มิได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของทฤษฎี หรือการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์, ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชาร์ลส์ จิ๊ด มิได้คิดค้นหรือให้สิ่งใดอันเป็นสิ่งใหม่ต่อทฤษฎีหรือการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ มิอาจเทียบได้กับคาร์ล เมงเกอร์ (Carl Menger), โบห์ม-บาแวร์ค (Bohm-Bawerk), สแตนลี่ย์ ดับเบิลยู. เจวอนส์ (Stanley W. Jevons), อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) หรือแม้กระทั่งเออร์วิง ฟิชเช่อร์ (Irving Fisher), ยกตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย.

ศาสตราจารย์โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ได้เคยเขียนถึงชาร์ลส์ จิ๊ด ไว้ว่า แม้นจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ได้มีบทบาทที่ทรงคุณประโยชน์และได้รับความนับถือมากที่สุดตลอดกาล, โดยเป็นผู้นำรอบด้านที่ปราศจากอคติใดๆ และตรงข้ามมีความเห็นอกเห็นใจทุกฝ่ายทุกสำนักที่เห็นๆ กัน และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวนี้ไปยังผู้อื่นได้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ชาร์ลส์ จิ๊ด ได้เรียบเรียงตำราเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงเล่มหนึ่ง และตำราประวัติลัทธิเศรษฐกิจที่ร่วมเรียบเรียง, ซึ่งได้รับการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง.[18]

 


เชิงอรรถ

[1] หนังสือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หนังสือชุดครบรอบ 10 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542, หน้า 26-27.

[2] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 15.

[3] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 163.

[4] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 166.

[5] ปรีดี พนมยงค์, “การเรียนกฏหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อฯ”, ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ), สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2529, หน้า 123-133.

[6] ปรีดี พนมยงค์, “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์”, โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, 2526, หน้า 4

[7] หนังสือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” อ้างถึงข้างต้น หน้า 2-3.

[8] สหัสส์ กาญจนพังคะ “หลักเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด”, สำนักงานนายศิลปี, 2479.

[9] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 3-4.

[10] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 24-27.

[11] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 36-39.

[12] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 54-55.

[13] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 121-123.

[14] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 361-366.

[15] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 468-471.

[16] หนังสือที่อ้างถึงข้างต้น หน้า 530-537.

[17] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, “ความคิดสหกรณ์ของปรีดี พนมยงค์”, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2530 หน้า 5-21.

[18] Joseph A. Schumpeter, “History of Economic Analysis”, Oxford University Press, New York, 1954, p. 843

หนังสือเสริม

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “แนวความคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”, หนังสือชุดครบรอบ 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ.2560 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ