แก้ต่างให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เรื่องโคมระย้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

โคมระย้าในท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

แก้ต่างให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เรื่อง โคมระย้า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เกือบทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีที่จะต้องไปทำในท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตอนช่วงต้นรายการก่อนที่เจ้านายจะเสด็จออก ก็ต้องมีการนำชมพอหอมปาก ไม่ว่าจะเป็นพระแท่นราชบัลลังก์ถม หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และที่ขาดเสียไม่ได้คือ โคมระย้า แก้วเจียระไนขนาดมหึมา ที่ห้อยลงมาจากเพดาน

ประชาชนที่รับฟังก็จะได้รับความรู้ว่า โคมระย้า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เดิมทีเป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เพื่อแขวนในท้องพระโรงกลางนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ชักความไปกว่านี้ เพราะเวลาจำกัด และมีสิ่งอื่นต้องนำชมอีก

ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

“โครงกระดูกในตู้” กับปริศนา “โคมระย้า”

ได้พยายามหาหลักฐานที่มาของเรื่องนี้ ว่าใครเป็นคนกุขึ้นมา ในที่สุดก็พบว่าที่แท้ก็คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้เขียนไว้ใน โครงกระดูกในตู้” มีความว่า

“เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยา (ช่วง) ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีบุญวาสนามาก วันหนึ่งมีฝรั่งเอาแคตาลอกโคมระย้าไปให้ดู มีรูปโคมระย้าทำด้วยแก้วเจียระไน สวยงามแพรวพราวมาก ฝรั่งบอกว่าโคมอย่างนี้ผู้มีเกียรติ์สูงและมีอำนาจวาสนามากในเมืองฝรั่งจึงจะใช้ติดเพดานตึกได้

ในเมืองไทยก็เห็นมีแต่เจ้าคุณเท่านั้นที่มีบุญวาสนาและอำนาจราชศักดิ์พอที่จะมีโคมแบบนี้แขวนบนตึกที่บ้านได้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านดูรูปโคมแล้วก็ถูกใจ เพราะสวยงามหรูหราสมกับบุญวาสนาท่านจริงๆ ท่านก็ตกลงกับฝรั่งให้สั่งเข้ามา เสียเงินให้ฝรั่งไปเป็นพันๆ ชั่ง

อีกหลายเดือนต่อมาเรือที่บรรทุกโคมระย้าจากยุโรปก็มาถึง เรือมาจอดที่หน้าท่าบ้านท่าน ที่เรียกว่าบ้านสมเด็จฯ เดี๋ยวนี้พอดี พอจัดการขนโคมระย้าขึ้นท่ามาได้ก็ปรากฏว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่โตเหลือเกิน เข้าประตูหน้าบ้านท่านก็ไม่ได้

ถ้าจะเอาเข้าก็ต้องรื้อกำแพงบ้านลง และถึงจะเอาเข้ามาภายในบ้านได้แล้ว จะเอาโคมขึ้นตึกก็ไม่ได้ เพราะเข้าประตูไม่ได้อีก และถึงจะรื้อกำแพงตึกเอาขึ้นไปให้ได้ ก็ไม่มีที่จะแขวน หากแขวนที่ห้องใดห้องหนึ่งโคมนั้นก็จะห้อยลงมาถึงพื้นห้อง เป็นอันว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถูกฝรั่งต้มเสียสุก ท่านหมดปัญญาเข้าท่านก็เลยสั่งให้ปลูกโรงมุงจากไว้ริมตลิ่ง เอาซุงปักเป็นเสารับคานไม้ซุงแล้วเอาโคมระย้าแขวนเก็บไว้ที่นั่นหลายปี

พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็เข้าเป็นเจ้ากี้เจ้าการมาก แต่เดิมพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหลังคาพระที่นั่งเป็นแบบฝรั่ง เพราะพระที่นั่งทั้งองค์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านทรงเอะอะไม่ยอม ขอพระราชทานให้สร้างเป็นหลังคาแบบไทย ยกยอดปราสาท ก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท้องพระโรงกลางบนพระที่นั่งจักรีฯ อันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกรับเอกอรรคราชทูตประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนี้นั้น

สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าไปเก้กังคอยดูแลเรื่องส่วนยาวส่วนกว้างส่วนสูงให้ถูกใจท่านมากที่สุด พอพระที่นั่งจะเสร็จท่านก็ให้หามเอาโคมระย้าใหญ่จากโรงริมตลิ่งเข้าไปน้อมเกล้าฯ ถวาย ให้ติดบนท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ โคมนั้นยังติดอยู่จนทุกวันนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านรื่นเริงเบิกบานมากในครั้งนั้น” (คึกฤทธิ์ 2514, 104-105)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับโคมระย้า 

ตรองดูความตอนบน ก็จะเห็นว่าตั้งใจใส่ความ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อย่างไม่ต้องสงสัย โดยสร้างภาพว่าท่านเป็นคนไม่รู้จักประมาณตัว หลงตัวเองจนถูกฝรั่งต้มเสียสุก เชื่อว่าเรื่องนี้คุณคึกฤทธิ์คงได้ฟังมาจากสาแหรกข้างพ่อของท่าน ซึ่งก็มีความจงเกลียดจงชังสมเด็จเจ้าพระยาฯ อยู่เป็นพื้น

เรื่องมีว่า ในการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ที่ประชุม อันมีสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์

แต่เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม เพราะ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ต้นราชสกุล ปราโมช) ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ” (ทิพากรวงศ์ 2504, 266-267)

จะเห็นต่อไปว่าความทั้งหมดใน “โครงกระดูกในตู้” นั้นเป็นเรื่องที่พลิกพลิ้ว “กุ” ขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง

โคมระย้าดังกล่าวเมื่อส่งมา เขาคงจะต้องถอดมาเป็นชิ้นส่วนบรรจุลงใส่ในหีบ เขาคงไม่แขวนเป็นโคมระย้าสำเร็จรูปให้แกว่งไกวไปมาอยู่ในเรือ และ “พอจัดการขนโคมระย้าขึ้นท่ามาได้ก็ปรากฏว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่โตเหลือเกิน เข้าประตูหน้าบ้านท่านก็ไม่ได้ ถ้าจะเอาเข้าก็ต้องรื้อกำแพงบ้านลง” เรื่องนี้ทำให้นึกถึงม้าไม้ของเมืองทรอยที่เคยเรียนมาสมัยมัธยม ที่ชาวเมืองทรอยเห่อเหิมจนลืมตัวว่าชนะ ทำลายกำแพงเพื่อชักม้าเข้าเมือง ในที่สุดก็พบกับหายนะ

“สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าไปเก้กังคอยดูแลเรื่องส่วนยาวส่วนกว้างส่วนสูง[ของท้องพระโรงกลาง] ให้ถูกใจท่านมากที่สุด” หากเรื่องนี้เป็นจริง ไม่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็นาย Clunish ผู้ออกแบบพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็คงต้องฆ่ากันตายไปแล้วข้างใดข้างหนึ่ง

“พอพระที่นั่งจะเสร็จท่านก็ให้หามเอาโคมระย้าใหญ่จากโรงริมตลิ่งเข้าไปน้อมเกล้าฯ ถวาย ให้ติดบนท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ” เรื่องนี้เชื่อว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านคงมีสำนึกอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ที่จะไม่นำเอาของที่ท่านเห็นว่าไม่มีประโยชน์สำหรับท่าน หรือของเหลือใช้ไปถวาย แต่เรื่องนี้ก็เดาใจท่านยาก

“เดิมพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหลังคาพระที่นั่งเป็นแบบฝรั่ง เพราะพระที่นั่งทั้งองค์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านทรงเอะอะไม่ยอม ขอพระราชทานให้สร้างเป็นหลังคาแบบไทย ยกยอดปราสาท[พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง]ก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของสมเด็จเจ้าพระยาฯ” เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านมีความเป็นอนุรักษนิยมและชาตินิยมค่อนข้างสูง ท่านคงทนกับความตื่นดกฝรั่งที่เกินขอบเขตไม่ได้ ทำให้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทก็กลายเป็นอาคารแบบชาตินิยมหลังแรกของโลก

เรื่องโคมระย้าเจ้าปัญหานี้ อันที่จริงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์ท่านได้ทรงซื้อหามาด้วยพระองค์เอง ไม่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อยกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ตามที่ถูกใส่ความโดยผู้ไม่หวังดี นาย Lucien Fournereau ชาวฝรั่งเศสได้ให้รายละเอียด โคมระย้าในท้องพระโรงของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไว้ใน พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) ว่า

“จากเพดานมีโคมระย้าขนาดมหึมาทำด้วยแก้วซึ่งเคยไปจัดแสดงที่แผนก Baccarat ในงานแสดงสินค้าโลกในปี ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) นอกจากนั้นยังมีเชิงเทียนซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับโคมระย้าอีกสองอันตั้งอยู่ใต้ภาพเขียน เครื่องแก้วทั้งสามชิ้นนี้ บริษัทเยอรมัน ซื้อไปและขายให้แก่พระเจ้ากรุงสยาม” (Fournereau 1998, 67)

อันการห้อยโคมระย้าแก้วเจียระไนนี้เป็นค่านิยมที่มีอยู่ครั้งยังต้องใช้แสงเทียน โคมระย้าในสมัยนั้นนับว่าเป็นเครื่องเรือนชิ้นสำคัญในการบ่งบอกถึงสถานะความมั่งคั่งสำหรับสังคมของชาวตะวันตก ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อโคมระย้ามหึมาพร้อมทั้งเชิงเทียน 2 อันนี้มา ก็เพื่อเป็นสิ่งเชิดพระพักตร์ชูพระเนตรคู่ควรกับพระบารมี

แต่ปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้วในสังคมตะวันตก โคมระย้าได้เปลี่ยนบทบาทจากการบ่งบอกถึงสถานะความมั่งคั่งในสังคม มาเป็นเครื่องมือที่จะบ่งบอกถึงสถานะความมั่นคงในสังคม ส่อให้รู้ถึงรากฐานของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน

อีกทั้งทายาทที่ยังมิได้เอาไปขายกิน

หมายเหตุ: เพิ่มหัวข้อย่อยโดย กอง บก. ออนไลน์ เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. โครงกระดูกในตู้. พิมพ์แจกเป็นมิตรพลี ในงานทำบุญอายุครบห้ารอบ 20 เมษายน พ.ศ. 2514. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชัยฤทธิ์, 2514.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เล่ม 2. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504.

Bock, Carl. Temples and Elephants. (First published 1884). Bangkok : White Orchid Press, 1985.

Fournereau, Lucien. Bangkok in 1892. (First published 1894). trans. & intro. by Tips, Walter E.J. Bangkok : White Lotus, 1998.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2561