หม่อมราโชทัย ล่ามคณะทูตเดินทางไปอังกฤษเมื่อร้อยปีก่อน กับผลงาน “นิราศลอนดอน”

หม่อมราโชทัย
หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)

หม่อมราโชทัย เป็นที่รู้จักกันดีว่าท่านเป็นคนที่มีความสามารถมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณรับใช้พระบรมราชจักรีวงศ์ด้วยความจงรักภักดี ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 4 ให้สนองงานอย่างเสมอ รวมถึงการเดินทางไปกับคณะทูตสู่ประเทศอังกฤษ และได้แต่ง “นิราศลอนดอน” บันทึกชิ้นสำคัญในการดำเนินนโยบายการเจริญสัมพันธไมตรีของสยาม

หม่อมราโชทัย มีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 เป็นบุตรของกรมหมื่นเทวานุรักษ์ (หม่อมเจ้าชอุ่ม อิศรางกูร) เมื่อเจริญวัย บิดาได้พาหม่อมราชวงศ์กระต่ายไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวช หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้ตามเสด็จไปรับใช้ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงสนพระราชหฤทัยภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายจึงได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยมีมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนาเป็นผู้สอนจนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญพระราชกระแสรับสั่งไปสนทนากับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ครั้นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้สมัครเข้ารับราชการ ความสามารถของหม่อมราชวงศ์กระต่าย ที่ช่วยสนองพระราชกิจได้ดี จึงได้รับพระราชทานเลื่อนอิสริยยศเป็น “หม่อมราโชทัย”

ครั้น พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งคณะทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยเป็นล่ามหลวง ด้วยพระราชดำริว่าหม่อมราโชทัยเป็นผู้มีความรู้ในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยเดินทางไปกับคณะทูตที่มี พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต

ความรู้ภาษาอังกฤษของหม่อมราโชทัยในตำแหน่งล่ามหลวง นับว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่กิจการทูตของไทยเป็นอย่างยิ่ง มิใช่เพียงคนไทยเท่านั้นที่ประทับใจในความสามารถด้านภาษาอังกฤษของหม่อมราโชทัย แม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษก็ทรงสนพระทัย ถึงกับมีรับสั่งถามหม่อมราโชทัยว่า เรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ใด

หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2401 หม่อมราโชทัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายจดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปลอนดอนแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้แต่งบทกวีเรื่องนิราศลอนดอนขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง จนเป็นที่โด่งดังและถูกกล่าวขานกันมาก

นิราศเรื่องลอนดอนอาวรณ์ถวิล

“จำจากมิตรขนิษฐายุพาพิน   เพียงจะสิ้นชีวาด้วยอาลัย

ถ้าแม้นผิดมิใช่กิจนรินทร์ราช   ไม่คลาดคลาดคลายชิดพิสมัย

โดยภักดีประสงค์จำนงใน   อาสาไทจอมจักรหลักนคร

มะเสงศุกรเดือนเก้าขึ้นสามค่ำ   แสนระกำด้วยจะไปไกลสมร

เข้าชิดโฉมโลมลาพงางอน   กล่าวสุนทรปลอบน้องอย่าหมองนวล”

(คลิกอ่านนิราศลอนดอน)

บทกวีเรื่องนิราศลอนดอนข้างต้น เริ่มต้นจากการบรรยายให้เห็นภาพพจน์ถึงการที่ตนเองจะต้องจากไปทำหน้าที่ในแดนไกล การเดินทางในสมัยนั้น ต้องยึดสิงคโปร์เป็นหลัก โดยสารเรือออกจากกรุงเทพฯ ผ่านสิงคโปร์ มุ่งสู่กรุงไคโรโดยผ่านทางคลองสุเอซ แล้วไปยังมอลตาร์ที่เป็นเกาะอยู่กลางทะเล ผ่านช่องแคบยิบรอลต้า แล้วขึ้นท่าที่เมืองพอร์ตสมัท แล้วออกจากปอร์ตสมัทมุ่งสู่กรุงลอนดอน

การเดินทางของพวกราชทูตค่อนข้างมีความซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร คณะราชทูตเหล่านี้จำต้องมีความอดทนสูง ร่างกายและจิตใจต้องเข้มแข็ง พร้อมที่จะรับสถานการณ์ร้าย ๆ เรือกำปั่นต้องผจญกับคลื่นลมในมหาสมุทร ซึ่งหม่อมราโชทัยหรือ ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูล ก็ได้เขียนบรรยายไปเห็นอะไรก็ใส่ลงในบันทึก จึงเกิดเป็นนิราศที่สนุกและตื่นเต้น

นิราศลอนดอนนี้ปรากฏในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ว่า หม่อมราโชทัยแต่งภายหลังจดหมายเหตุระยะทางของราชทูตไทยไปลอนดอนแล้ว 2 ปี และขายกรรมสิทธิ์การพิมพ์ครั้งแรกให้หมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2404 หมอบรัดเลย์บันทึกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ซื้อขายกรรมสิทธิ์หนังสือในเมืองไทย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยขึ้นเป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรกของไทย นับเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานให้แก่ชาติไทยเป็นอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. (กันยายน, 2559). ตามล่าหาเมืองเก่า : หม่อมราโชทัยกับนิราศลอนดอน. (63) 51. หน้า 68


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2562