“บทอัศจรรย์” คือบทอะไร? ทำไมต้องมี? มีเมื่อไร?

บทอัศจรรย์คือคำบรรยายความรู้สึกขณะร่วมเพศด้วยความเปรียบเทียบ (ซึ่งไม่มีทางอื่นที่จะอธิบายไม่ให้หยาบคายได้) ส่วนเปรียบเทียบกับอะไรก็แล้วแต่ประสบการณ์และความคิดของกวี บ้างก็เปรียบกับพายุที่พัดจนท้องทะเลเป็นบ้า แต่พอฝนตกก็หายไป เช่น

พลายแก้วกับนางพิม :-

“เผยออกยกนางขึ้นวางตัก   กำเริบรักเชยชิดสนิทสนม

ป่วนปั่นกระสันเสียวเกลียวกลม   ก็เกิดลมพายุใหญ่ประลัยกัลป์

พัดกระพือโผงผางจะล้างโลก   พระสุเมรุเอนโยกตลอดลั่น

สะเทือนท้องคงคาพนาวัน   มืดอาทิตย์มิดจันทร์จลาจล

พฤกษาดอกงอกงามอยู่ตามฝั่ง   ก็ย่อยยับพับพังกระทั่งต้น

ฟ้าเปรี้ยงเสียงร้องก้องคำรน   แต่พอฝนตกหายพายุฮือ

บ้างก็เปรียบกับแมลงภู่เฟ้นฟอนดอกไม้ แล้วจบด้วยฟ้าคะนองฝนตก เช่นคู่

สังคามาระตา-จินตะหรากุสุมา :-

“ชมแก้มแนมดวงสุมาลี   ฤดียียวนไปมา

ภุมเรศคลึงเคล้าเกสร   แซกซอนฟอนฟั้นบุปผา

เบิกบานทานแสงสุริยา   เมฆาชอุ่มอนธการ

เมขลาล่อแก้วแววไว   รามสูรเลี้ยวไล่ขว้างขวาน

เสียงสนั่นพสุธาบาดาล   ทั้งสองแสนสำราญบานใจ”

ในขุนช้างขุนแผน กวีบางท่านหลีกจากพายุไปใช้พระอาทิตย์-พระจันทร์ และจบด้วยแมลงทับแทนแมลงภู่

ขุนแผน-แก้วกิริยา :-

“อุ้มนางวางตักสะพักรับ   ทอดทับระทวยลงดังท่อนทอง

พระพายชายพัดบุปผาชาติ   เกสรสาดหอมกลบตลบห้อง

ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง   พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับยับ

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น   ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ

หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ   แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง”

ทำไมต้องมีบทอัศจรรย์

ก็เพื่อให้รู้ว่า พระ-นางคู่นั้น “ได้-เสีย” กันแน่ ๆ ถ้าเพียงแต่กอดจูบลูบคลำแล้วละไว้ในฐานที่เข้าใจ (เพราะกลัวหยาบคาย) บางท่านก็ยังคลางแคลง เพราะมีเป็นอันมากที่ได้สัมผัสแต่ภายนอก แต่ถ้ามีบทอัศจรรย์ก็แน่นอนได้ว่ามี “สัมผัสใน”

ต้องยกย่องและขอบคุณกวีโบราณ ที่ท่านสามารถบรรยายสิ่งที่กระดางลางให้เราฟังได้โดยไม่หยาบคาย นอกจากไม่หยาบคายแล้ว ยังไพเราะเพราะพริ้ง และสนุกด้วย

บทอัศจรรย์มีมาแต่เมื่อไร

หนังสือประวัติวรรณคดีของเราทุกเล่มจะเริ่มต้นที่ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ว่าเป็นวรรณคดีเล่มแรก นั่นก็โดยความยกย่อง เพราะเป็นเอกสารชิ้นแรกนับแต่มีตัวอักษร แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นเพียงจดหมายเหตุเท่านั้น

เล่มที่ 2 ก็ไตรภูมิพระร่วง นี่ก็ไม่ใช่อีก เป็นเพียงหนังสือที่รวบรวมความรู้เรื่องภูมิต่าง ๆ จากนานาคัมภีร์ ในพุทธศาสนามาเรียบเรียงขึ้นเท่านั้น ถ้าจะว่าเป็นวิทยานิพนธ์ก็ใช่ และเป็นวิทยานิพนธ์ชั้นยอดด้วย หรือว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกของไทย (ก่อนมีมหาวิทยาลัย) ก็ใช่อีก

มาเป็นวรรณคดีจริง ๆ ก็ในสมัยพระบรมไตรโลกนารถ คือมหาชาติคำหลวง ในมหาชาติคำหลวงนั้นมีการเป็นผัวเป็นเมียกัน คือชูชกได้นางอมิตตดาเป็นเมีย แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงการสังวาส จึงไม่มีบทอัศจรรย์ มามีเอาในสมัยต่อมา คือ พระลอลิลิต มีหลายบทครับ แต่เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่ ขอเสนอบทเดียว :-

“กระเทือนฟ้าฟื้นลั่น   สรวงสวรรค์

พื้นแผ่นดินแดยรร   หย่อนไส้

สาครคลื่นอึงอรร   ณพเฟื่อง ฟองนา

แลทั่วทิศไม้ไหล้   โยกเยื้องอัศจรรย์”

สรุปได้ว่าบท อัศจรรย์นี้มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น หลังรัชกาลพระเจ้าบรมไตรโลกนารถลงมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บทอัศจรรย์ บทอะไร? ทำไมต้องมี? มีเมื่อไร?’” เขียนโดย ภาษิต จิตภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2561