ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่เปิดเผยใหม่

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จออกรับคณะทูตสยามเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซายส์

ความนำ

ในวารสารสยามสมาคม JSS vol.90.1&2, (2002) Dr.Michael Smithies ได้เสนอและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เอกสารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ชิ้นหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการสยามศึกษามาก่อน เอกสารชิ้นนี้เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ที่รู้กันหรือเชื่อกันในยุคนั้น, จึงสมควรจะเผยแพร่เป็นภาษาไทย
ความเป็นมาของเอกสาร

เอกสารฉบับนี้ไม่สมบูรณ์และชื่อเดิมไม่ปรากฏ, แต่จากหลักฐานภายในก็เชื่อได้ว่าทำขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๔ และคงเป็นฝีมือราชบัณฑิตกรุงศรีอยุธยา จากเนื้อความเราทราบได้ว่า นี่คือหนังสือแนะนำให้ราชทูตสยามตอบอย่างเหมาะสมเมื่อถูกราชการต่างประเทศซักถาม, จึงแต่งเป็นรูปปุจฉา-วิสัชนา ขอเรียกไว้ก่อนว่า “คู่มือทูตตอบ”

หนังสือ “คู่มือทูตตอบ” มีประวัติดังนี้ :-

๑. ฉบับเดิมภาษาไทยที่หายไปนั้น, ทำขึ้นมา พ.ศ. ๒๒๒๔

๒. ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันบาทหลวงคงแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส คนแปลคงถนัดภาษาไทยดีมาก เพราะท่านปริวัตรชื่อเฉพาะต่างๆ ถูกต้องแม่นยำตามตัวอักษรอย่างมีระเบียบเฉพาะของท่าน แต่ฉบับนี้ไม่เหลือให้เห็นเช่นกัน

๓. ต่อมาเมื่อฉบับที่ ๒ ลบเลือนเสียมาก, ก็ได้รับการคัดลอกอีกชั้นหนึ่งโดยบาทหลวง (?) ที่ไม่รู้ภาษาไทยและมีลายมือแย่มาก ชื่อเฉพาะหลายคำจึงเลอะเลือน, จึงติดตามคำเดิมได้ยาก ฉบับนี้แหละที่เหลือให้ตรวจในหอจดหมายเหตุของคณะบาทหลวง Missions Etrangere de Paris (AME 854, ff.721-727)

๔. ต่อมาฉบับที่ ๓ ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Alain Forest ในหนังสือ Les Missionaires francais au Tonkin et au Siam, XVIIe-XVIIIe siecles, BK 1, Histoires de Siam (Paris, L’Harmaltan, 1998) ในการปริวัตรลายมือในฉบับที่ ๓ มีการอ่านผิดเพิ่มเติมบ้าง

๕. ใน JSS vol.90 ท่าน Smithies ได้แปลภาษาฝรั่งเศสในฉบับที่ ๔ ของท่าน Forest เป็นภาษาอังกฤษโดยมีความแก้ไขเล็กน้อยและมีคำพิมพ์เพิ่มเติมบ้างแต่ไม่มาก

คณะทูตสยามคราวเดินทางไปราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ (ค.ศ. ๑๖๘๖) จากซ้ายไปขวา ราชทูตออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน), ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต

ในบทความนี้ผมจะพยายามแปลงานของ Smithies (ฉบับที่ ๕) เป็นภาษาไทย, ทั้งนี้โดยจะไม่หวังรื้อฟื้น (Reconstruct) ภาษาของฉบับภาษาไทยชั้นปฐม ผมจะแปลภาษาอังกฤษของ Smithies อย่างเรียบง่ายพอได้ความ (ผิดๆ ถูกๆ) ส่วนศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะนั้น, หากจับความได้มั่นคงไม่เป็นที่สงสัย, ผมจะปริวัตรเป็นอักษรไทยโดยไม่มีอักษรโรมันกำกับ หากเป็นที่สงสัยก็จะเสนอคำแปลโดยมีอักษรโรมันกำกับ หากนึกไม่ออกผมจะให้เฉพาะอักษรโรมันและขอให้ท่านผู้อ่านช่วยสันนิษฐาน

ในกรณีชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆ ผมอาศัยฉบับภาษาฝรั่งเศสของ Forest เพราะฉบับภาษาอังกฤษของ Smithies มีการคัดลอกพิมพ์ผิดเพิ่มเติมบ้าง

หลักการปริวัตรไทยเป็นโรมันของต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส (ที่หายไปแล้ว) มีดังนี้ :-

tt = th; pp = ph; c = ก; ch = ช; thi = จ; aa = อา; ae = ไอ; ou = อู; ue = อือ; ea = เอีย; uea = เอือ แต่ระบบการปริวัตรนี้ถูกเขย่าด้วยการคัดลอกผิดมากกว่า ๑ ครั้ง

คู่มือทูตตอบ

(๗๒๑) หากท่านถูกซักถามถึงยศบรรดาศักดิ์ของท่าน

ให้ตอบว่า ท่านหนึ่งเป็นออกพระ, ท่านหนึ่งเป็นออกหลวง, ท่านหนึ่งเป็นออกขุน ออกพระนั้นเทียบเท่า Marquis, ออกหลวงเทียบเท่า Count, ส่วนออกขุนหมายถึงคนเกิดในตระกูลผู้ดี

หากถูกถามถึงตำแหน่งและหน้าที่ในราชสำนัก

ให้ตอบว่า รับราชการและเป็นนายทหาร

หากถามเรื่องสุขภาพของพระเจ้ากรุงสยาม

ให้ตอบว่า ทรงมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์

หากถามถึงเจ้าฟ้าหญิง, เจ้าฟ้าชาย, ข้าราชการผู้ใหญ่และข้าในวังทั้งหลาย

ให้ตอบว่า ทุกคนสุขสมบูรณ์ ยินดีอยู่ใต้อำนาจพระมหากษัตริย์กรุงสยาม, พระมหามนตรี ที่คุมราชการด้วยวิจารญาณยิ่งนักมา ๒๐ กว่าปีแล้วนั้นถึงแก่กรรม ๒-๓ เดือนที่แล้วหลังจากล้มป่วยมานาน

หากถามถึงพระนามาภิไธยและพระชนมพรรษาของกษัตริย์

ให้ตอบว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ท่านชื่อสมเด็จพระนารายณ์ ราชาธิราช ชาติสุริยวงศ์ ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ท่านทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์ ราชา Thian Ppou Ya เมื่อพระองค์ทรงอักษรกับกษัตริย์องค์อื่นท่านใช้พระนามอื่นที่รายงานคุณอันประเสริฐของพระองค์ทั้งหมด พระองค์มีพระชนมพรรษาได้ ๕๐ พรรษา

หากถูกบีบให้ออกเสียงและอธิบายพระนามาภิไธย

ให้แก้ว่า พระนามาภิไธยนั้นล้วนประกอบด้วยคำบาลีที่ยุ่งยากจึงอธิบายไม่ง่าย หากว่ามาไม่ถูกต้องก็เกรงว่าตัวจะมีความผิด

หากถามว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบตระกูลมาแต่ใด, และกรุงสยามเก่าแก่หรือสร้างใหม่, และเมืองโบราณสุดอยู่ที่ใด

ให้ตอบว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันสืบสันตติวงศ์มาจากสมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์ Seangae ซึ่งครองเมืองชัย Ppaha มหานคร เมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐ โดยมีกษัตริย์ ๑๐ พระองค์สืบทอดกันในเมืองนั้น ต่อมาสมเด็จพระยโศธรวรรมเทพราชาธิราช (Sommedethia Prayasouttora Ttarrena Ttepperaacchaatti) ก่อตั้งกรุงยโศธร (ปุระ) นครหลวง และมีกษัตริย์อีก ๑๒ พระองค์ สืบทอดกันมา ต่อจากนั้นไปสมเด็จพระพนมทะเลศรีมเหศวรวารินทร์ราชบพิตร์ ไปอยู่สุโขทัย ใน พ.ศ. ๑๗๓๑ ท่านก่อตั้งเมืองเพชรบุรีที่มีกษัตริย์ ๔ องค์ครองเป็นระยะเวลา ๑๖๓ ปี ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีบพิตร์๑๐ ได้สืบสันตติวงศ์และสร้างกรุงสยามในปี ๑๘๙๔, ซึ่งเป็นราชธานีตลอดจนทุกวันนี้ โดยชื่อว่ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระองค์ทรงครองอยู่ ๒๗ ปีต่อไป สิริรวมมีกษัตริย์ ๕๐ พระองค์ ในระยะเวลา ๙๒๖ ปี

(๗๒๒) หากถามว่าเราคำนวณ…

ให้ตอบว่า ตั้งแต่ปีปรินิพพานของพระสมณโคดม, คือเมื่อ ๒,๒๒๖ ปีก่อนปัจจุบัน๑๑

หากถามว่า มีเจ้าฟ้าชาย-หญิงกี่พระองค์

ให้ตอบว่าฟ้าหญิงหนึ่ง, ฟ้าชายสอง และมีพระราชบุตร-บุตรีอีกจำนวนหนึ่ง

หากถามอายุฟ้าหญิงฟ้าชาย

ให้ตอบว่า ฟ้าหญิงอายุ ๒๕, ฟ้าชายองค์หนึ่งอายุ ๓๙, อีกองค์ ๒๙

หากถามว่า วังนั้นมีสัณฐานอย่างไร, ใหญ่แค่ไหน

ให้ตอบว่า วังมีกำแพง ๓ ชั้นทำด้วยอิฐและหิน, ใหญ่โตกว้างขวางสูงสง่า ตรงกลางมีหอสูงมากก่อด้วยหิน, อิฐ และไม้, ปิดทองทั่ว, หลังคามุงด้วยดีบุก มีสวนดอกไม้, ไม้ยืนต้นเรียงเป็นแถว และน้ำพุ, ทั้งนี้ในกำแพงชั้นที่ ๓ ภายในกำแพงอีก ๒ ชั้น มีทั้งสวนดอกไม้นานาชนิด, สระน้ำใหญ่พร้อมน้ำพุและอาคารน้อยใหญ่มุงด้วยดีบุกปิดทอง, พร้อมทั้งสวนสัตว์

หากถามว่า กรุงสยามใหญ่เพียงใด

ให้ตอบว่า มันอยู่บนเกาะ, มีแม่น้ำกว้างใหญ่ล้อมรอบมีชื่อว่า “แม่น้ำ” คือแม่แห่งน้ำทั้งหลาย มีกำแพงอิฐล้อม, วัดโดยรอบ ๖,๐๐๐ วา หรือ ๓๐๐ เส้น

หากถามว่า สยามร้อน-เย็นอย่างไร

ให้ตอบว่า มี ๓ ฤดู, คือร้อนซึ่งไม่…(ต้นฉบับลบเลือน), เย็น และฝน

หากถามว่า พระเจ้าแผ่นดินไปอยู่ละโว้ทำไม และเมืองนั้นเป็นอย่างไร

ให้ตอบว่า เมื่อ ๓๐๐ ปีที่แล้วเมืองนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแต่แล้วถูกทิ้งให้ร้าง๑๒ องค์ปัจจุบันให้บูรณะขึ้นใหม่และสร้างวังที่พระองค์โปรดประทับเป็นส่วนใหญ่ เมืองนี้ยังอยู่ใกล้ป่าที่ท่านโปรดไปคล้องช้าง, ล่าเสือและสัตว์อื่น

หากถามว่า พระเจ้ากรุงสยามส่งทูตถึงเมืองใด

ให้ตอบว่า แต่ก่อนส่งทูตไปยังจีน, ญี่ปุ่น, เปอร์เซีย, อังวะ และลาว ปัจจุบันทูตไปญี่ปุ่น, อังวะ และลาวยกเลิกไป เมื่อเร็วๆ นี้คณะทูตใหม่ออกไปฝรั่งเศสและยังไม่ทันกลับเข้ามา แผ่นดินมีศึกสงครามกับอังวะและลาว, ส่วนญี่ปุ่นนั้นจะส่งทูตไปนานๆ ทีแต่มีเรือไปมาทุกปี

หากถามว่าในราชอาณาจักรมีช้างมาก

ให้ตอบว่า ไม่มีเมืองใดอื่นที่มีช้างดีและมากมายเท่า, ว่ามีช้างเผือก ๒ เชือก ที่ได้รับความเคารพอย่างสูง ในกรุงสยามมีโรงช้าง ๔๐๐ โรงไว้เชือกชั้นเอก นอกเมืองและตามหัวเมืองยังมีอีกหลายโรง ทุกปีไม่ขาดชาวมัวร์๑๓ เข้ามาซื้อ ๒-๓ ร้อยเชือก ถวายให้โมคุล๑๔ ม้าก็มีแต่จำนวนไม่มาก มันไม่จำเป็น เพราะเมื่อออกล่าสัตว์หรือดำเนินสงครามก็ต้องบุกป่าดงดิบซึ่งม้าทำไม่ได้ดีเท่า (ช้าง)

(จบเนื้อความเท่านี้ก่อน จะมีต่อในฉบับหน้า)

ความส่งท้าย

ในศิลปวัฒนธรรมฉบับต่อไป ผมจะพยายามแปลเอกสารชิ้นนี้อีกท่อนต่อไป ซึ่งว่าด้วยภูมิศาสตร์ มีชื่อหัวเมืองใหญ่ที่จับได้จนทุกวันนี้, แต่มีชื่อหัวเมืองย่อยที่เป็นปริศนา สุดท้ายนี้ขอแรงท่านผู้อ่านช่วยตีความชื่อบ้านชื่อเมืองที่ปรากฏในหนังสือ “คู่มือทูตตอบ” ท่อนต่อไป

(คลิกอ่านตอน ๒ ที่นี่ ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม (๒) เอกสารสมัยพระนารายณ์ ไกด์คำตอบให้ทูตคุยกับต่างชาติ)


ข้อสังเกตเบื้องต้น

๑. พระมหามนตรีของผม, ฉบับว่า “first minister” หมายถึงพระคลังเล็ก?

๒. Thian Ppou Ya ผมจับไม่ถูก, จะเป็น “ท่านผู้ใหญ่” หรือ?

๓. สมเด็จพระปฐมสุริยวงศ์ปรากฏตามตำนานทั้งเขมรและไทย, แต่นักปราชญ์ทั้งไทยและเทศต่างยังไม่สามารถจับได้ว่าเป็นใคร

๔. Seangae อาจจะสำคัญมาก แต่ผมปริวัตรไม่ถูก

๕. ชัย Ppaha มหานครอาจจะเป็นราชธานีในเขมร แต่เราอย่าเพิ่งผูกใจ มันอาจจะอยู่ในอีสานหรือแถวคอคอดกระ, หรือในอินเดียใต้

๖. พ.ศ. ๑๓๐๐ ตรงกับ ค.ศ. ๗๕๗, ใครครองอะไร ที่ไหนในปีนั้น?

๗. สมเด็จพระยโศธรวรรมเทพฯ สำคัญมากในยุคหลังๆ นี้ พระนามนี้หายไปจากความรับรู้ของชาวอุษาคเนย์และเพิ่งเป็นที่รู้จักกันเมื่อนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสอ่านจารึกเขมรในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ จารึกระบุว่า พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เป็นผู้ก่อตั้งเมืองพระนครหลวง (อังกอร์) ราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๕ “คู่มือทูตตอบ” ของเราแสดงว่า ราชบัณฑิตกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังรักษาความรู้ประวัติศาสตร์โบราณค่อนข้างแม่นยำสมบูรณ์, และพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาคงถือว่าท่านสืบสันตติวงศ์จากพระนครหลวงกรุงกัมพูชาธิบดี

๘. กรุงยโศธร (ปุระ) นครหลวง คือพระนครหลวงกรุงเขมร (อังกอร์) จารึกว่า พระเจ้ายโศธรวรรมันทรงก่อตั้งในปี พ.ศ. ๑๒๔๕

๙. สมเด็จพระพนมทะเลศรีฯ ไม่ปรากฏในจารึก แต่มีกล่าวถึงในตำนานว่าเป็นผู้ครองเมืองเพชรบุรีและจัดระเบียบหัวเมืองท่าในภาคใต้ เอกสารจีน (Yuan-shih) ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ระบุว่า “กัน-มุ-ดิง” (กำระเต็ง) เมืองปี้ฉาปู้หลี่ (เพชรบุรี) ส่งทูตมาจิ้มก้อง

ในหนังสือ “คู่มือทูตตอบ” ของเราดูเหมือนกับว่าราชบัณฑิตสมัยสมเด็จพระนารายณ์เห็น “พระพนมทะเลศรีฯ” เป็นตัวเชื่อมประวัติศาสตร์ระหว่างพระนครหลวงกรุงเขมรกับกรุงศรีอยุธยา

๑๐. สมเด็จพระรามาธิบดีฯ นำเราเข้าสู่ประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อว่ารู้จักเพราะมีเอกสารที่น่าเชื่อถือกำกับ แต่พระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๔ ได้สืบสันตติวงศ์จริงจากสมเด็จพระพนมทะเลศรีฯ แห่งเพชรบุรีดังหนังสือ “คู่มือทูตตอบ” เสนอ, ก็ยังเป็นปริศนาอยู่

๑๑. ที่ให้คำนวณพุทธศักราชว่านับตั้งแต่ปีปรินิพพานมา ๒,๒๒๖ ปีนั้น, ก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานผูกมัดว่า เอกสารชิ้นนี้ทำขึ้นมาในปีนั้นโดยไม่ต้องสังสัย

๑๒. ที่ว่าเมืองลพบุรีเคยเป็นราชธานีมาก่อนนั้น, นักประวัติศาสตร์ทุกคนเชื่อ, แต่นี่คือเอกสารเก่าชิ้นเดียวที่ระบุเช่นนั้น ๓๐๐ ปีก่อน พ.ศ. ๒๒๒๖ (ค.ศ. ๑๖๘๓) คือ พ.ศ. ๑๙๒๖ (ค.ศ. ๑๓๘๓)

๑๓. มัวร์ (Moore) หมายถึงมุสลิม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมจากอินเดีย

๑๔. โมคุล คือจักรวรรดิ Mogul ที่ครองอินเดียเหนือจากกรุงเดลี จักรพรรดิร่วมสมัยกับสมเด็จพระนารายณ์ คือพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb) ในหนังสือ City of Djinns ของ William Dalrymple ท่านอ้างจดหมายเหตุเก่าว่า ที่ตลาดกรุงเดลี “มีนางทาสเขมรจากแดนเลยแม่น้ำอิรวดี” (Khmer girl concubines from beyond the Irrawady) หน้า ๕๔; และว่า จักรพรรดินีโมคุลเสด็จ “ประทับบนหลังช้างมหึมาจากกรุงหงสาวดี” (mounted on a stupendous Pegu elephant) หน้า ๑๙๙ ชะรอยจะเป็นนางทาสและช้างดีจากกรุงศรีอยุธยา?


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ.2561